กทช.เตรียมจ้างที่ปรึกษา กำหนดค่าบริการขั้นสูง!

กทช. เตรียมจ้างที่ปรึกษากำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูง รองรับประกาศว่าด้วยมาตรฐานของสัญญา และการเปลี่ยนแปลง อัตราค่าธรรมเนียม คาดได้ข้อสรุปภายใน ไตรมาสที่ 1/50 รับอัตราปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง พร้อมทุ่มงบกว่า 280 ล้านจัดซื้ออุปกรณ์วัดทราฟฟิกภายใน 60 วัน

มนัส ทรงแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยถึงการออกหลักเกณฑ์ กำหนดอัตราโครงสร้างค่าธรรมเนียมในการให้บริการโทรคมนาคม เพื่อรองรับประกาศว่าด้วยมาตรฐานของสัญญา การให้บริการโทรคมนาคมนั้นว่า กทช.อยู่ในระหว่างการร่างทีโออาร์ เพื่อสรรหาบริษัทที่ปรึกษามาค้นคว้ารายละเอียด ข้อมูลทางการตลาด และกำหนดประเภทของบัญชี โดยมีสำนักเศรษฐกิจโทรคมนาคม เป็นตัวกลางในการกำหนด ทีโออาร์และจัดหาบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าว

พร้อมกันนี้ยังจ้างที่ปรึกษาอีกรายหนึ่งเพื่อตรวจสอบทีโออาร์ดังกล่าวให้มีความถูกต้องอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถคัดเลือก บริษัทดังกล่าวได้แล้วเสร็จตามกระบวนการในไตรมาสที่ 1/50

มนัส กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กทช.ยังไม่มีการปะกาศอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการขั้นสูงไว้แต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นการยาก ที่ผู้ประกอบการจะมีกรอบในการกำหนดค่าบริการ ซึ่งเดิมมีบริษัทที่ปรึกษาได้ยื่นคุณสมบัติเข้ามายัง กทช. จำนวน 10 ราย แต่ปัจจุบันได้ทำ short list เหลือเพียง 6 รายแล้ว

ขณะเดียวกันในส่วนนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อบริษัทได้ เพราะขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการให้คะแนน และตรวจสอบ แผนดำเนินการ โดยรายละเอียดทีโออาร์ระบุว่า ต้องเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในด้านการจัดการ กิจการโทรคมนาคม ไม่ต่ำกว่า 8 ปี เป็นต้น

ทั้งนี้ตามร่างประกาศ กทช.ว่าด้วย มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม หมวด 3 ข้อ 16 ระบุว่า ผู้ให้บริการจะต้อง เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการไม่เกินอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และต้องเป็นอัตราตามที่ได้ตกลงไว้ ในสัญญา โดยต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตัวเองในอัตราเดียวกัน สำหรับบริการโทรคมนาคม ที่มีลักษณะ หรือประเภท เดียวกัน และไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยก หรือกีดกันผู้ใช้บริการรายหนึ่งรายใด

จะอย่างไรแล้วในระหว่างที่มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมไปก่อนหน้า กทช. กำหนดให้ผู้ประกอบการ ใช้เงื่อนไขเดิมที่มีอยู่ จนกว่าจะมีการประกาศใช้อัตราขั้นสูงใหม่ เช่น โทรภายในประเทศพื้นที่เดียวกัน 3 บาทต่อนาที ส่วนโทรทางไกล มีหลายอัตราตั้งแต่ 12-18 บาทตามระยะทาง เป็นต้น

จากข้างต้นนั้น มนัส ยอมรับอีกว่าอัตราดังกล่าวเป็นอัตราที่ไม่สามารถคำนวณต้นทุนที่แท้จริงได้ ประกอบกับโอเปอเรเตอร์ ด้านโทรคมนาคมในประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานของระบบบัญชีเดียวกัน รวมทั้งยังติดปัญหาสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้ ต้นทุนค่าดำเนินกิจการของแต่ละรายมีความเหลื่อมล้ำกันและการคิดคำนวณต้นทุนเป็นไปได้ยากมาก

“เหมือนตัวอย่างในประเทศฝั่งยุโรปพบว่า ต้องใช้เวลานานกว่า 5-10 ปี ในการเปลี่ยนให้โอเปอเรเตอร์ทุกราย ใช้มาตรฐานเดียวกันได้ ดังนั้น กทช. จึงมีความจำเป็นในการจ้างที่ปรึกษาเข้ามาช่วย เพื่อให้กระบวนการดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานโลก” มนัสกล่าว

ทุ่มงบจัดซื้ออุปกรณ์ วัดทราฟฟิก 280 ล้าน

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาโทรไม่ติดในระยะยาวนั้น รองเลขาธิการ กทช. กล่าวต่อว่า มี 2 แนวทาง คือ 1. จัดซื้ออุปกรณ์ ในการตรวจวัดปริมาณทราฟฟิก (Drive test) จำนวน 14 เครื่อง เพื่อติดตั้งประจำสถานีวิทยุของกทช. ทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณจำนวนเครื่องละ 20 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 280 ล้านบาท

หรือ 2. เอาท์ซอร์สให้บริษัทต่างประเทศที่มีประสบการณ์เข้ามาดำเนินการ เพื่อนำข้อมูลทราฟฟิกที่เก็บได้มาเปรียบเทียบ กับข้อมูลของบริษัทเอกชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างทีโออาร์ โดยกทช.ได้อนุมัติในหลักการแล้ว พร้อมให้ดำเนินการ โดยเร่งด่วนภายใน 60 วัน

อนุมัติไลเซนส์ไอเอสพี ประเภท2และ 3เพิ่ม

สุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า กทช.อนุมัติหลักการ อนุญาตให้ บริษัท สกาย ออฟฟิศ จำกัด บริการอินเทอร์เน็ตประเภทที่สอง แบบมีโครงข่าย เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ต เกตเวย์ระหว่างประเทศและบริการชุมสายอินเทอร์เน็ต

โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปตรวจสอบเพิ่มเติมในประเด็นสถานะความเป็นไทยของบริษัทดังกล่าวให้ชัดเจน และมีหลักฐานรับรองอย่างเป็นทางการและกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการอนุญาต

ในทางเดียวกันหากตรวจสอบพบว่าการดำเนินการมีผลต่อการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต จะต้องปฏิบัติตามประกาศ กทช. ที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการออกใบอนุญาตตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ให้ถือเอาแนวทางดังกล่าว เป็นแนวทางการปฏิบัติ สำหรับเรื่องในทำนองเดียวกันที่ขออนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สองและแบบที่สาม

นอกจากนั้นยังเห็นชอบอนุญาตให้ บริษัท มิลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้ให้บริการติดตั้งตู้โทรศัพท์ประเภทหยดเหรียญ และบัตรโทรศัพท์ให้กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้บิการอินเทอร์เน็ตประเภทที่สาม โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กทช. กำหนดเงื่อนไขการอนุญาตโดยให้ดำเนินการเฉพาะอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *