ถุงมืออิเล็กทรอนิกส์ “Raytheon” ช่วยจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

แรงบันดาลใจในการพัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์มาจากภาพยนตร์ “Minority Report หน่วยสกัดอาชญากรรมล่าอนาคต” ซึ่งแสดงโดย Tom Cruise  คาดว่า อีกไม่นานน่าจะได้รับการพัฒนาเข้ามาใช้ในวงการทหารเพื่อจัดการกับข้อมูลจริงๆ

ในภาพยนตร์เราจะเห็น Cruise สวมถุงมืออิเล็กทรอนิกส์แล้วเรียกข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งภาพเคลื่อนไหว เสียง ตัวอักษร ขึ้นมาแสดงกลางอากาศ Cruise ดำเนินการจัดการข้อมูลเหล่านั้นด้วยการเคลื่อนไหวมือที่สวมถุงมือ  ค้นหาเบาะแสหรือเงื่อนงำ ประมวลผลและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์อาชญากรรมที่เกิดในอนาคต เพื่อจับตัวอาชญากรที่กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างทันท่วงที ภาพยนตร์นี้สร้างขึ้นจากเรื่องสั้นของ Philip K.Dick  ซึ่งเป็นระบบคาดการณ์ของการเกิดอาชญากรรมในอนาคต

โดยระบบดังกล่าวจะใช้คอมพิวเตอร์และมนุษย์ที่มีความสามารถพิเศษในการรับรู้เหตุการณ์ในอนาคต/มองเห็นเหตุการณ์ในอนาคต แล้วข้อมูลที่ได้จากคำทำนายของมนุษย์ข้างต้นถูกนำมาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์แล้วคาดการณ์/พยากรณ์ถึงการเกิดอาชญากรรมก่อนที่เหตุการณ์นั้นๆ จะเกิดขึ้น

Raytheon ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาและผลิตอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ที่มลรัฐ Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยพัฒนามีดอเนกประสงค์ไฮเทค “Swiss Army Knife” ออกมาวางจำหน่ายจนได้รับความนิยมมาแล้วและปัจจุบันได้ดำเนินการพัฒนาถุงมือสำหรับเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ในรุ่นที่ใช้งานจริงโดยให้ John Underkoffler ซึ่งเป็นนักวิจัยอยู่ที่ Massachusetts Institute of Technology: MIT และเป็นเจ้าของความคิด รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับถุงมือ/อุปกรณ์เชื่อมต่อดังกล่าวที่ใช้ในภาพยนตร์ Minority Report เป็นผู้พัฒนาถุงมือให้กับบริษัทฯ เมื่อก่อน Underkoffler ได้พัฒนาวิธีการในการแสดงและการควบคุมข้อมูลโดยแสดงข้อมูลลงบนโต๊ะหรือผนังธรรมดาหรือเป็นที่รู้จักในนาม The Luminus Room

แนวคิดนี้เพื่อต้องการให้กราฟฟิกออกมาจากมอนิเตอร์เพื่อให้ไปสู่โลกที่แท้จริง Underkoffler กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบใหม่นี้จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทหารสามารถจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แป้นพิมพ์และเมาส์จะไม่สามารถจำกัดการใช้งานของมนุษย์เราได้อีกต่อไป

Raytheon ใช้ถุงมือที่ภายในฝังตัวเซ็นเซอร์ไว้ตามจุดสำคัญต่างๆ เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ในการจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่และใช้กล้องบันทึกภาพและเก็บข้อมูลภาพลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของมือในรูปแบบต่างๆ ไว้ ดังนั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวมือและนิ้วมือ ตัวเซ็นเซอร์ในถุงมือจะส่งข้อมูลลักษณะของมือ/รูปแบบของมือและนิ้วมือไปยังคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์จะดำเนินการวิเคราะห์และสั่งการให้คอมพิวเตอร์ทำงานโดยในแต่ละท่าทางการเคลื่อนไหวของมือ คอมพิวเตอร์จะได้รับคำสั่งให้ทำงานที่แตกต่างกันไปตามท่าทางที่แสดงออกมา เช่น การค้นหาแฟ้มข้อมูล เรียกไฟล์ข้อมูลหลายๆ ไฟล์ขึ้นแสดงพร้อมๆ กัน เปิดแฟ้มข้อมูล ดึงข้อมูลภายในแฟ้มออกมาใช้ หมุนไฟล์ภาพให้แสดงในมุมต่างๆ สร้างไฟล์ข้อมูลเพิ่มเติมหรือแม้แต่ลบไฟล์ข้อมูลก็ทำได้สะดวกง่ายดาย และยังสามารถแสดงข้อมูลที่สืบค้นบนจอภาพขนาดใหญ่ได้

 

Raytheon วางแผนเสนอเทคโนโลยีนี้เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อแยกแยะข้อมูลภาพทางดาวเทียมและข้อมูลลับ (ข้อมูลอัจฉริยะ) ขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่ Stephen Brewster จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว (University of Glasgow) ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้อาจจะมีการประยุกต์ใช้งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางทหารก็ได้ ซึ่งการแสดงท่าทางด้วยมือ (Hand gestures) จะไม่เหมือนกับการใช้เมาส์ (mouse) หรือ ตัวชี้ตำแหน่ง (Pointer) เพราะการแสดงท่าทางด้วยมือจะทำงานได้อย่างดีเมื่อข้อมูลถูกแสดงบนขนาดแสดงผลที่ใหญ่เท่าหน้าต่าง แต่ Brewster ให้รายละเอียดว่าในการพัฒนายูสเซอร์ อินเตอร์เฟสแบบใหม่นี้ จะต้องพัฒนาวิธีแสดงข้อมูลด้วยภาพ (information visualization) วิธีใหม่ๆควบคู่กันไปด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *