ทีโอที-กสท รวมกันเราอยู่…อีกครั้ง 4 ปีทำได้เพียงแผนที่ไม่เคยสำเร็จ !!

กระแสการพิจารณาแนวทางเพื่อนำไปสู่โอกาสในการควบรวมสองกิจการโทรคมนาคมระหว่าง บมจ.ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยกระทรวงการคลังได้เดินทางมาให้พูดถึงกันอีกครั้ง !!

เมื่อสัญญาณจากรัฐมนตรี “ทนง พิทยะ” บอกผ่านมาเพื่อหาแนวร่วมทั้งในส่วนผู้บริหารทั้งสององค์กร และตัวแทน สหภาพแรงงานฯของทั้งสองแห่งซึ่งก็ได้ตอบรับแนวคิดมาพิจารณากันเป็นอย่างดี

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริษัท ทีโอที บอกกล่าวในเรื่องนี้ว่า แม้จะเป็นแนวคิดของรัฐมนตรีคลัง แต่ในกระบวนการดำเนินการก็อยากที่จะให้เป็นการเต็มใจในการทำงานร่วมกันของผู้บริหารทั้งสององค์กร มากกว่าการบอก ให้ทำหรือไม่ทำในเรื่องของนโยบาย

ส่วนเหตุผลสำคัญหนึ่งคือการต้องยอมรับความจริงที่ว่า วันนี้ทั้งทีโอที และ กสท โทรคมนาคม มีความเหมือนกันอย่างมาก ในการให้บริการโทรคมนาคม และจะเหมือนกันมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่จะเปิดเสรีมากขึ้น

ดังนั้นเพื่อลดความซ้ำซ้อนของทั้งการลงทุน และการให้บริการ ในฐานะที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวกัน และต่างก็มีแผน ที่ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ด้วยกันทั้งสองแห่ง กระบวนการเลือกวิถีลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มกำไรให้มากขึ้น จึงจำเป็นมาก

ด้านนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า ทีโอที และ กสท กำลังอยู่ในยุคของการถดถอย และเสียเปรียบอย่างมาก ในการแข่งขัน เพราะส่วนหนึ่งมาจากการเพิกเฉยของคนที่มาทำหน้าที่บอร์ดและผู้นำในแต่ละรุ่น

ทั้งนี้การบริหารที่ผ่านมาเป็นเพียงการเดินนโยบายตามระบบรัฐวิสาหกิจ และมีส่วนได้เสียจากงานประมูลการจัดซื้อ จัดจ้างโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ทีโอที และ กสท มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่อปีไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และหน่วยงานนี้ก็คิดเสมอว่ายังมีสัมปทานให้สามารถกินดอกผลในระยะยาวเป็นสิบปี ที่สร้างกำไรบนการแข่งขัน ที่ไม่เท่าเทียมมาตลอด

และสัมปทานเหล่านี้เหลืออายุนานกว่าอายุการทำงานที่เหลือของผู้นำองค์กร ทำให้การรักษาประโยชน์องค์กรถูกให้ ความสำคัญน้อยกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง

เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร.อนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการสถาบัน Thailand Telecommunication Management Academy (TTMA) ที่บอกว่า ทีโอทีวันนี้อยู่ในสภาพเสียโอกาสทางการแข่งขันไปแล้ว เพราะจุดได้เปรียบที่เคยมี ได้หายไปหมด คงเหลือเพียงแค่การมีโครงข่ายทั่วประเทศครอบคลุมที่สุดเพียงเรื่องเดียวที่ยังพอสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ด้วยการเป็น Network Provider

แต่การเป็น Network Provider ก็มีเวลาเหลือให้ทำได้เพียง 1-2 ปีนี้เท่านั้น เพราะโครงข่ายของ ทีโอทีเป็นโครงข่ายเก่า ที่ทำด้วยทองแดง ในขณะที่อนาคตของชุมสายโครงข่ายทั้งหมดกำลังไปสู่ โครงข่ายไอพี หรือ IP Convergence

ดังนั้นวันนี้ซึ่งทีโอที ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย และเรื่องอินเตอร์คอนเน็คชั่น ก็กำลังวาง หลักเกณฑ์อัตรากันอยู่ ซึ่งคงใช้เวลากันอีกกว่าปีในการวางมาตรฐานกลางกันได้โอกาสในการแข่งขันของทีโอที อาจถือได้ว่าจบลงไปแล้ว

ในส่วนของ กสท ยิ่งหนักกว่า เพราะจุดแข็งเรื่องการเป็นเกตเวย์กำลังจะหมดไปแล้ว เมื่ออนาคตอันใกล้ช่องทางรายได้ ส่วนนี้ต้องเปิดให้คนอื่นสามารถทำได้ด้วย

นอกจากนี้วันนี้ กสท ยังเสียหายจากการให้บริการ VOIP เถื่อนหรือโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศผ่านอินเตอร์เน็ต ที่มีมากมายตามจับกันไม่หมดด้วย

สอดรับกับที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ปัจจัยแวดล้อมทุกอย่างได้เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นประเด็นกัดเซาะความมั่นคงของทีโอที และ กสท ทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องต้นทุนในการดำเนินการมากขึ้นจากนโยบายของคณะกรรมการ กทช. ค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นมา ล้วนเป็นรายจ่ายที่หน่วยงานนี้ไม่เคยต้องจ่าย

ในทางเดียวกันยังมีแนวโน้มที่จะสูญรายได้โดยเฉพาะในรายของ ทีโอที ซึ่งอาจขาดรายได้ต่อปีกว่า 10,000 ล้านบาท จากค่าแอ็คเซสชาร์จ ที่เคยได้รับจากบริษัทมือถือที่อยู่ในสัญญาสัมปทานของ กสท ทั้ง ดีแทค, ทรูมูฟ, ฮัทช์และดีพีซี เพราะเมื่ออินเตอร์คอนเน็คชั่น ชาร์จ เริ่มใช้บริษัทเหล่านี้ตั้งเป้าแล้วว่าถ้าเริ่มคิดค่าใช้จ่ายเชื่อมต่อโครงข่ายกัน ก็จะหยุดจ่ายแอ็คเซสชาร์จให้ทีโอที

ทีโอที และ กสท ก็ดูจะยอมรับสภาพความเป็นจริงเหล่านี้อยู่เหมือนกัน เพราะรายได้ที่ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมและมากขึ้น เพราะทีโอทีมีคน 21,000 คน ส่วน กสท มีคน 5,700 คน

จึงเป็นเหตุให้ ทีโอที มีแผนโครงการเกษียณก่อนกำหนดโดยวางเป้า 3 ปีต้องดึงดูดพนักงานเข้าโครงการ 8 , 000 คน ให้เหลือเพียง 13,000 คน พร้อมๆกับการตั้งบริษัทย่อยต่างๆ ขึ้นมา เพื่อดึงคนเก่งคนดีเอาไว้ไม่ให้สมองไหล ด้วยบริษัทใหม่ เหล่านี้มีทั้งบริษัท อินเตอร์เน็ต บริษัท คอลล์เซ็นเตอร์ บริษัทดำเนินการขนส่ง บริษัท คอนเทนส์ โดยจะทำหน้าที่ เอาท์ซอร์ส ให้ทีโอที แต่ทำงานแบบเอกชนมากกว่าเดิมและทีโอทีเข้าถือหุ้น 100%

นอกจากนี้ยังวางแผนสู้ศึกเรื่องรายได้ จากแอ็คเซสชาร์จหายไปด้วยว่า หากเอกชนที่เคยจ่ายดื้อแพ่งก็จะกระทบต่อ สัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่ทำให้เกิดแรงเสียดทานกับสัญญาเดิม ซึ่งในส่วนนี้ ทีโอที ก็จะขอไลเซนส์ใหม่กับ กทช. โดยขอเป็นผู้ให้บริการประเภท 1 คือ ไม่มีโครงข่ายของตัวเอง เป็น Service Operator เพียงอย่างเดียว และเช่าโครงข่าย ทั้งหมดจากทีโอที

วิธีนี้จะทำให้บริษัทใหม่มีรายจ่ายน้อยลง เพราะไลเซนส์แบบ 1 ไม่ต้องมีค่า USO ที่ กทช.เรียกเก็บ 4% จากรายได้ ส่วนทีโอทีแม้จะมีรายจ่ายค่าธรรมเนียมมากแต่รายได้ที่ลดลง เพราะจะทำหน้าที่เหลือเพียงเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย ก็ทำให้จ่ายค่าธรรมเนียมลดลงโดยปริยายด้วย

ผู้บริหารทีโอที มองว่า วิธีนี้แม้จะไม่อยากให้ต้องนำมาใช้แต่ก็ช่วยให้วิกฤติที่เกิดลดระดับความรุนแรงลงได้…

ถึงอย่างไรแล้วแนวทางเรื่องการควบรวมกิจการนั้น มีมาตั้งแต่หน่วยงานทั้งสองยังอยู่ใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม คือกว่า 4 ปี ซึ่งยังไม่เกิดกระทรวงไอซีทีเสียด้วยซ้ำ ซึ่งในขณะนั้นแนวทางนี้วางแผนให้หน่วยงานทั้งสองอยู่ในกลุ่ม รัฐวิสาหกิจที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์

แต่กาลเวลาได้ผ่านไปทั้งในยุคทักษิณ 1 และ 2 มาสู่ยุควิกฤติทางออกการเมืองในวันนี้ ก็ยังไม่มีบทสรุปเกิดขึ้นในแนวทาง ที่สมควรจะเป็น จนคนในวงการทั้งหลายฟันธงไปนานแล้วว่าหน่วยงานทั้งสองนี้เข้าตลาดหุ้นไม่ได้

เหตุผลสำคัญที่สุดเพราะมูลค่าของกิจการไม่นิ่งพอที่จะวางเป็นราคาขายหุ้นได้ แม้ครั้งหนึ่งที่ปรึกษาการเงินของทีโอที เคยตั้งราคาเบื้องต้นว่าทีโอทีควรขายที่ 13.14 – 25.71 บทต่อหุ้น แต่ก็เป็นเพียงราคาเบื้องต้นที่วันนี้ได้เปลี่ยนแปลง ไปมากแล้ว

ความยากในการกำหนดราคา เพราะสถานะของ ทีโอที และ กสท เปลี่ยนไปตามความไม่แน่นอนของการแข่งขันในอนาคต และสัญญาสัมปทานที่อาจถูกเจรจาแก้ไข หรือยุติได้ในอนาคต

“เงื่อนตายนี้ส่วนหนึ่งเพราะโทรคมนาคมบ้านเรา เปิดเสรี คือมีต่างชาติมีการแข่งขันมากแล้ว แต่มามีหน่วยงาน กำกับคือกทช.เกิดขึ้นตามมาทีหลัง สวนทางกับที่ต่างประเทศทำกัน ซึ่งทำให้การออกนโยบายใหม่ และการปรับ แก้สัญญาเดิมๆทำได้ลำบากที่สุด”

ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านมือถือ ให้ความเห็นถึงเงื่อนตายที่ว่าทำให้การที่ กทช. จะออกนโยบายใหม่ เพื่อทำให้การแข่งขันเท่าเทียมมากขึ้น ก็นำไปใช้ยากเพราะสัญญาเดิมเป็นเรื่องคู่สัญญาแต่ละคู่ไม่มีความเท่าเทียมกัน

ส่วนการจะเจรจาแก้ไขสัญญาเดิมก็ยากอีก เพราะคู่สัญญาที่ได้ประโยชน์อยู่ก็พยายามเก็บสัญญาเดิมไว้

เรื่องนี้จึงไม่แปลกที่ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที จำรัส ตันตรีสุคนธ์ ได้สะท้อนมุมมองให้ว่า การรวมกิจการ ในทางปฏิบัติถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะต้องพิจารณาทั้งเรื่องของกฎหมายและต้องทำความเข้าใจกับพนักงานทุกระดับ ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีในการดำเนินการ และควรจะควบรวมให้แล้วเสร็จก่อนกระจายหุ้น

และทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพร้อมของ ทีโอที และ กสท ว่าจะสามารถดำเนินการได้ในลักษณะใดบ้าง

ดังนั้นแม้วันนี้ ผู้บริหารทีโอที และ กสท จะออกมากให้ความคืบหน้าว่าหารือกันแล้วว่า โอกาสในการรวมกิจการกัน ในลักษณะ โฮลดิ้ง คัมปานี ที่ถือหุ้นใน ทีโอที และ กสท โดยที่ทั้งสองหน่วยงานยังคงมีสภาพกิจการอยู่ เป็นวิธีที่ดีที่สุด

แต่นี่อาจจะเป็นความคืบหน้าล่าสุด และสุดท้ายแล้ว สำหรับกระบวนการรวมกิจการที่จะเดินต่อให้เห็นเป็น รูปธรรมให้เห็นได้ยากสาหัส โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองมีความไม่แน่นอนสูงแบบนี้…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *