แกรมมี่เปิดเกมรบปลายปี ดัน“ไอ-คีย์”กวาดรายได้

 แกรมมี่เปิดเกมรบทิ้งทวนปลายปี ตั้งเป้าฟัน 600 ล้านบาทโต 100% พร้อมดันบริการ“ไอ-คีย์” กวาดรายได้สิ้นปีนี้ 50 ล้านบาท ชี้ปัจจัยความพร้อมเทคโนโลยีป้องกันละเมิดลิขสิทธิ์และการเก็บเงิน รวมถึงชูจุดต่างเหนือคู่แข่ง เตรียมบริการขายเพลงตามสั่งผ่านร้านกาแฟทรู มั่นใจราวๆ ปลายปีนี้ได้เห็นแน่ ส่วนอาร์.เอส.ฯ โต้การแข่งขันไม่ได้วัดที่เทคโนโลยี

สุวัฒน์ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ดิจิตอล โดเมน จำกัด (GMMD) เผยว่า ตลาดดิจิตอล คอนเทนต์ถือเป็นตลาดใหม่ของกลุ่มแกรมมี่ โดย บริษัท จีเอ็มเอ็ม ดิจิตอล โดเมน ก่อตั้งมากว่า 2 ปี ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถสร้างรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ปี 2547 มีรายได้ 100 ล้านบาท ส่วนปี 2548 มีรายได้รวม 400 ล้านบาท ในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ราว  600  ล้านบาท ซึ่งรายได้หลักมาจากบริการดาวน์โหลดริงโทน คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 50%

“ตลาดดิจิตอล คอนเทนต์ เติบโตอย่างรวดเร็ว และหลากหลาย แต่คนไทยไม่ใช่เป็นผู้กำหนด เป็นการดูตัวอย่างจาก สหัฐอเมริกา, เกาหลี หรือญี่ปุ่น ส่วนคอนเทนต์ในโลกมี 5 ประเภทเท่านั้นที่ได้รับความนิยม คือ เพลง, หนัง, กีฬา, ข่าว และเกม ซึ่งคอนเทนต์ทั้ง 5 ประเภทนี้ เรามีครบหมดแล้ว” สุวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคอนเทนต์ทั้ง 5 ประเภทจะเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม แต่สำหรับในประเทศไทยคอนเทนต์ที่ยังมาแรงในช่วงปีที่ผ่านมาและในปีนี้ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ก็คือ คอนเทนต์เพลง และหนัง ส่วนประเภทบริการที่ลูกค้าเลือกใช้มากที่สุดก็คือ โหลดริงโทนผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากโหลดริงโทน 70% จากรายได้ 400 ล้านบาท และในปีนี้ บริการดังกล่าวก็จะได้รับความนิยม และสร้างรายได้ให้กับบริษัทเท่ากับปีที่ผ่านมา

แกรมมี่รุกขายเพลงผ่านร้านกาแฟ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ดิจิตอล โดเมน จำกัด คาดว่า ไตรมาส 4  จะเปิดให้บริการขายเพลงผ่านร้านกาแฟของทรู ในลักษณะให้บริการสั่งซื้อเพลงตามที่ต้องการและทางร้านจะบันทึกลงแผ่นซีดี  ซึ่งแนวคิดก็คือ ผู้มาใช้บริการร้านกาแฟระหว่างที่รอกาแฟก็สามารถเลือกที่จะสั่งซื้อเพลงตามที่ต้องการได้ และเชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายนี้มีศักยภาพในการซื้อสูง

ล่าสุดได้เปิดบริการใหม่เรียกว่า “ไอคีย์”  iKey  ซึ่งเป็นบริการดาวน์โหลดเพลงแบบเต็มเพลง โดยผู้ต้องการฟังเพลงสามารถสมัครและใช้บริการได้หลายช่องทางโดยสามารถดาวน์โหลดทางเว็บไซต์  ww.ikeyclub.com หรือ wap.ikeyclub.com ผ่านโทรศัพท์มือถือในเครือข่ายเอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ หรือจากซีดีรอมที่แจกจ่ายออกไป หรือแม้กระทั่งตู้  KIOSK ซึ่งเพลงที่ดาวน์โหลดไปนั้นสามารถฟังหรือดูมิวสิควิดีโอได้ทั้งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือและเครื่องเล่นเอ็มพี 3

สำหรับการใช้บริการไอคีย์ทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1.เสียค่าบริการรายเดือน 119 บาท ซึ่งสามารถดาวน์โหลดเพลงได้ไม่จำกัด (Unlimited Download) โดยมีระยะเวลาการใช้งาน 30 วันนับตั้งแต่วันแรกที่สมัคร เมื่อครบกำหนด 30 วันแล้ว ระบบจะหักค่าบริการผ่านโทรศัพท์มือถือในรอบถัดไปโดยอัตโนมัติ หรือสามารถชำระเงินผ่านช่องทางอื่นๆอย่างเว็บไซต์ www.ikeyclub.com และลูกค้าสามารถยกเลิกการใช้บริการผ่านช่องทางดังกล่าวได้เช่นกัน   2.แบบซื้อสิทธิ์เป็นรายเพลง (Pay per Song) เหมือนการซื้อ Single CD แต่สามารถเลือกเพลงฮิตตามต้องการได้ และสามารถทำอัลบั้มรวมเพลงฮิตได้เอง ด้วยค่าบริการเพลงละ 35 บาท

ทั้งนี้บริษัทคาดว่าในปีแรกจะมีคนใช้บริการไอคีย์มากกว่า 2 แสนรายและมีรายได้กว่า 200 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมดของจีเอ็มเอ็ม ดิจิตอล โดเมน  ซึ่งในระยะเวลาที่เหลือจนถึงสิ้นปีคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ถึง 50 ล้านบาทเฉพาะบริการไอคีย์  และถือว่า “ไอคีย์”เป็นตัวเอกของบริการในปีนี้จนถึงปีหน้าด้วย

และยังเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ตลาดขยายตัวขึ้นเพราะ เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ถูกลง รวมไปถึงการใช้งานง่ายขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มคอนเทนต์จะลดราคาลง

“เชื่อว่าในอีก 3-4 ปี จะมีอุปกรณ์ที่รองรับบริการดิจิตอลคอนเทนต์ไม่น้อยกว่า 20-30 ล้านเครื่อง จากปัจจุบันที่มีโทรศัพท์มือถือ 22 ล้านเครื่อง และเครื่องเล่นเอ็มพี 3 จำนวน 6-7 ล้านเครื่อง และถ้ารวมกับเครื่องเอ็มพี 3 ที่หนีภาษีจะมีราว 10 ล้านเครื่อง” สุวัฒน์ กล่าว

จุดเด่นของแกรมมี่ ที่มีค่ายเพลง หรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลง 20,000 เพลง รวมทั้งมีภาพยนตร์ที่สร้างเอง และร่วมพัฒนากับพันธมิตรอีก 50-60 เรื่อง แล้วก็ตาม แกรมมี่ยังได้พยายามเพิ่มคอนเทนต์อีก คือ กีฬา, ข่าวและเกม โดยเฉพาะในส่วนของข่าว ได้จัดตั้งสำนักข่าวไทยไทม์ และจัดตั้งสถานีวิทยุ รวมทั้งเปิดเว็บไซต์ข่าว www.thaitimenews.com ขึ้นมา ส่วนเกม จะเน้นเป็นเกมบนโทรศัพท์มือถือเพื่อเล่นใช้ฆ่าเวลา 2-3 นาที และเกมที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน เช่น A3 และ Servivor Project

อีกทั้งเทคโนโลยีที่แกรมมี่ได้ลงทุนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพิ่มอีก 40 ล้านบาทในปีนี้ โดยลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันการขโมยข้อมูล หรือ Digital Right Management หรือ DRM ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ เพื่อหยุดการทำงานของอุปกรณ์ หรืออุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์

นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบการจัดการคอนเทนต์ให้รองรับการทำงานของข้อมูลให้มีความถูกต้อง, วิธีการแบ่งรายได้ระหว่างบริษัทและพันธมิตร รวมทั้งรองรับระบบโทรศัพท์มือถือที่มีระบบฟอร์แมทที่แตกต่างกันให้สามารถทำงานภายใต้เทคโนโลยี DRM ได้ รวมทั้งอุปกรณ์ปลายทาง เช่น โทรศัพท์มือถือ, เอ็มพี 3, หรืออุปกรณ์ปลายทางอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อาร์.เอส.แจง DRM เก่าใหม่ ไม่สำคัญ

วรพจน์  นิ่มวิจิตร ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานนิวมีเดีย บริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน)  ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “เทเลคอม เจอร์นัล” ว่า เทคโนโลยีการป้องกันการขโมยข้อมูล หรือ Digital Right Management หรือ DRM ของบริษัทฯ มี 2 ส่วน คือระบบที่ใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่(Mobile) ชื่อว่า OMA เป็นมาตรฐานที่ใช้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบที่ใช้ป้องการการขโมยข้อมูลทางเว็บไซต์ในแพลตฟอร์มของ ไมโครซอฟท์ วินโดว์ มีเดีย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนเป็นระบบที่ป้องกันการขโมยข้อมูล หรือวิธีการควบคุมลิขสิทธิ์ เมื่อมีการดาวน์โหลดคอนเทนต์ซึ่งจะไม่สามารถส่งต่อข้อมูลนั้นให้แก่อุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะด้วยการส่งผ่านบลูธูท,อินฟาเลส,ไว-ไฟ เป็นต้น โดยระบบจะทำการล็อคให้สามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ที่ทำการดาวน์โหลดจาก

ส่วนความแตกต่างเรื่องเทคโนโลยีการป้องกันการขโมยข้อมูล หรือ Digital Right Management หรือ DRM ที่บริษัทฯ นำมาใช้เห็นว่า ไม่ใช่ประเด็นที่จะวัดในการทำธุรกิจและบริการ แต่ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคจะเลือกวิธีการใด  ซึ่งเห็นว่ารูปแบบการให้บริการของบริษัทฯ จะสะดวกและง่ายสำหรับผู้ใช้ที่อาจจะไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือต้องเดินทางไม่สะดวกที่จะเข้าร้านอินเตอร์เน็ต และถึงแม้ว่าผู้ให้บริการจะเลิกใช้เทคโนโลยี DRM แบบใดต่างก็มีข้อจำกัด ทั้งดีและเสียเช่นเดียวกันดังนั้นคนที่ตัดสินใจก็คือ ผู้ใช้บริการ

สำหรับแนวโน้มตลาดคอนเทนต์เชื่อว่าในปีหน้าจะเติบโตกว่าปี 2549 ประมาณ  20-30% แต่จำนวนที่มาจากลุ่มผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังมีมากนัก ส่วนตลาดที่ใช้บริการผ่านเว็บไซต์และที่จะร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมนั้นคงต้องรอความชัดเจนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมหรือกทช. ก่อนจึงจะสามารถวางแผนและขยายฐานการให้บริการเพิ่มมากขึ้นได้

ส่วนในด้านรายได้ของธุรกิจในปีนี้ อาร์.เอส. คาดหวังจะเติบโตเพิ่มอีก 50% หรือมีรายได้ 300 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 210 ล้านบาท  ปัจจุบันบริษัทฯ มีฐานลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการดาวน์โหลดคอนเทนต์ราว 1 ล้านคน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *