“แอปเปิล”ไม่ยอมแหว่ง!! ปรับทัศนคติ‘แพง-ใช้ยาก’ เล็งเปิดตัวระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่นใหม่ แก้เกมชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

เชื่อแน่ว่าใครหลายคนคงเคยได้สัมผัสหรือผ่านตากับสินค้าสัญลักษณ์รูปแอปเปิลแหว่งมาบ้างแล้ว หากมองความเป็น “แอปเปิล” จะต้องนึกถึงเพียงคำเดียว “อินโนเวชั่น (Innovation) ” เป็นสิ่งสำคัญ แต่การทำตลาดในไทยนั้น “ไม่ใช่เรื่องง่าย” แม้ภาพรวมตลาดยังไปได้ไกลและมีโอกาสเติบโต เพราะการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใช้คนไทยทั่วไป ก้าวข้ามความกลัวต่อความเป็นแอปเปิล ในแง่ของ “ใช้ยากและราคาสูง” ซึ่งยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว ที่ผู้ใช้ยังไม่ทราบคุณค่าแท้จริง

หลังจากเข้ามานั่งแท่นกุมบังเหียนทั้งแบรนด์และผลิตภัณฑ์แอปเปิลได้ไม่นาน เทิดศักดิ์ สกุลยงค์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แอปเปิล (ประเทศไทย) จำกัด ให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า คำตอบที่นำไปสู่กลยุทธ์หลักของแอปเปิล ไม่ใช่ตลาดเมืองไทยมีจุดอ่อน แต่สำหรับ “จุดอ่อน” ที่ต้องจัดการคือ “ตัวเอง” ต้องขยันทำการบ้านให้หนักกว่าที่ผ่านมา รูปแบบความท้าทายสำหรับแอปเปิลยังคงเป็น 3 ประเด็นหลักคือ 1.มุ่งให้ความรู้กับผู้ใช้งาน นำความเข้าใจผิดทุกกรณีออกไป 2.สร้างความเข้าใจด้านราคาที่เหมาะสมกับประสิทธิภาพแท้จริง และสุดท้าย 3. สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ง่ายบนความไม่จำกัดเฉพาะในโลกแอปเปิลอย่างเดียวอีกต่อไป

โดยเฉลี่ยทุกปี 8% ของยอดขาย หรือประมาณ 1 ใน 4 แอปเปิลทุ่มไปกับการพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีและดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่ออนาคต ออกสู่ตลาดตลอดเวลา เพื่อให้สมกับคำว่า “แข็งแกร่งบนสังเวียนระดับโลก” เทิดศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า ในแง่ของผลิตภัณฑ์“เราเปลี่ยนมามากแล้ว” ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล แบ่งกลุ่มผู้ใช้งานชัดเจน ระหว่างกลุ่มผู้ใช้งานระดับมืออาชีพ หรือสาวกแม็ค และกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์เข้าถึงถูกต้องกับตลาด ด้วยจุดแข็งภายใต้ “ดีไซน์เพื่อการใช้งานที่ง่ายขึ้น” และ “ความเป็นอนาคต” ทำให้เหนือกว่าคู่แข่งจะไล่ทัน

“เวอร์ชั่นระบบปฏิบัติการใหม่ๆ ที่ออกมารองรับการใช้งานในโลกอนาคต เช่น เดือน เมษายน ปี 2550 แอปเปิลจะออกระบบปฏิบัติสปิง เป็นเวอร์ชั่นที่ขยับหนี สิ่งที่ใช้ในปัจจุบันและเหนือกว่าสิ่งที่กำลังจะออกอย่าง วินโดวส์ วิสต้า ซึ่งสาวกแอปเปิลมีใช้มาเป็นปี” เทิดศักดิ์ กล่าว

หน้าที่หลักของแอปเปิลขณะนี้คือ สร้างประสบการณ์ตรงกับผู้บริโภคทั่วไป ได้สัมผัสและใช้งานผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล แล้วรู้สึกง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดกลยุทธ์การตลาดแบบเน้นจัดกิจกรรม เจาะเข้าถึงตลาดเฉพาะกลุ่ม อาทิ โฟโต้ ทำเพลง และภาพยนตร์ แต่ไม่ทอดทิ้งสาวกแอปเปิลหรือระดับมืออาชีพที่เหนียวแน่น ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้ ในการพัฒนาทักษาเฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง เช่น งาน Pro Day เมื่อ 14 ก.ย ที่ผ่านมา เน้นส่งเสริมความสำเร็จ การสร้างภาพยนตร์ ด้วยเทคโนโลยีแอปเปิล

รวมถึงตอกย้ำภาพความเป็นผู้นำในทุกด้าน กับรูปโฉมและแนะนำช้อปแอปเปิลใหม่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคู่ค้า พร้อมกับขยายและรักษาฐานลูกค้าให้อยู่กับเรานานที่สุด ด้วยกระบวนการโอนสินค้า ที่ภาษาแอปเปิล เรียกว่า “D-apple Experience” เริ่มตั้งแต่ การซื้อ นำไปใช้งาน และบริการหลังการขาย ซึ่งต้องบริการวงจรให้ดีที่สุด “แอปเปิลจริงจังมากขึ้นกับการปรับรูปโฉมใหม่ “ช้อปแอปเปิล” บนพื้นฐานข้อกำหนดร่วมกับคู่ค้าที่ชัดเจน ในกลุ่ม “แอปเปิล พรีเมียม รีเซลเลอร์” ภายใต้ชื่อ “ iStudio by …” ปัจจุบันเปิดให้บริการแห่งเดียวที่สยามพารากอน ภายในสิ้นปีนี้จะเปิดให้ถึง 10 แห่ง ทั้งคู้ค้ารายเดิมและหน้าใหม่ ควบคู่ไปกับการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาด ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย และอุตรดิตถ์” เทิดศักดิ์ กล่าว

เทิดศักดิ์ ยืนยันถึงการดำเนินธุรกิจในเมืองไทยว่า ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน แม้ช่วงที่ผ่านมาหลังกูเกิลเข้ามานั่งในบอร์ดของแอปเปิล ถือเป็นแนวทางความร่วมมือที่ดี ซึ่งจะต้องสร้างรูปแบบการตลาดหรือบริการแนวลึกกว่าปกติ ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกเหนือจากที่กูเกิลเคยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รายงานหรือแนวทางใหม่ๆ จากบริษัทแม่ ดังนั้น แอปเปิล ประเทศไทยยังคงดำเนินนโยบายเดิม

แอปเปิลจะพุ่งเป้าหมายหลักไปยังตลาดการภาคการศึกษาเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะตลาดมหาวิทยาลัย ภาควิชาเฉพาะทาง เช่น วิศวกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และสถาปัตยกรรม รวมถึงสถาบันการศึกษาระดับมัธยมของเอกชนมากกว่าภาครัฐ ซึ่งแอปเปิล ได้จัดโปรแกรม back to school ใหม่ในไทยเป็นปีแรก นอกเหนือจากอเมริกา เปิดให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษา สามารถซื้อผลิตภัณฑ์แอปเปิลทั้งหมดในราคาพิเศษ ถูกกว่าปกติ 10%

โดยแอปเปิลมีความประสงค์ ต้องการขยายกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป ขยับขึ้นมาเป็นสาวกแอปเปิลหรือมืออาชีพเพิ่มขึ้น ด้วยแนวคิดว่า “แอปเปิลเป็นเพียงเครื่องมือพัฒนาผลิตผลงาน” ทำให้ผู้ใช้ต้องเสียเวลาเรียนรู้การใช้งานน้อยที่สุด นำเวลาที่เหลือไปใช้คิดสร้างสรรค์ให้มากที่สุด ถึงขั้นสามารถผลิตผลงานออกแบบส่งออกต่างประเทศได้อย่างมีคุณภาพ ทางด้านฝีมือและแนวคิดคนไทยไม่แพ้ต่างชาติ

เทิดศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า แอปเปิลมีอัตราการเติบโตทั่วโลกไตรมาส 3 ปีนี้ (มี.ค-พ.ค 49) มีมูลค่า 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับปีที่แล้วในไตรมาสเดียวกัน มีมูลค่า3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือโตขึ้น 25% ไตรมาส มาจากส่วนแบ่งการตลาด กลุ่มไอพอด 55% และ45% เป็นฮาร์ดแวร์ มีกำไรทั้งสิ้น 472 ล้านเหรียญสหรัฐ โตขึ้น 30% มาจากกระแส “ไอพอดเฮโล เอฟเฟค” ทั่วโลกต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะตลาดแอปเปิล สหรัฐอเมริกา มีอัตราการเติบโต 39% มาจากยอดขายฮาร์ดแวร์ 1.327 ล้านเครื่อง คิดเป็นเดกส์ท็อป 40% และโน้ตบุ๊ก 60% ซึ่งซีพียูโดยรวมโตขึ้น 12% และเป็นชิพอิลเทลครบทั้งหมด 100% จากไตมาส 2 ปีนี้ 75%

ส่วนยอดขายไอพอด มูลค่า 8.11 ล้านเครื่อง จากทั้งไอพอด 3 ตระกูล ได้แก่ ไอพอดชัฟเฟิล ไอพอดนาโน และไอพอดมูฟวี่ โตขึ้น 32% แม้ว่าตลาดเครื่องเล่นดิจิตอลเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นช่วงขาช่วงขาลงหรือซบเซาเพราะต้องเปลี่ยนสู่ไอพอดรุ่นใหม่ ซึ่งขณะนั้นแอปเปิลยังไม่มี แต่กลับมีตัวเลขยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในไทยด้วย มาจากปัจจัยที่ผู้บริโภคได้มีโอกาสเริ่มใช้ แล้วรู้ว่าใช้ง่ายจริงๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับ เทิดศักดิ์ แล้ว ถ้าชัยชนะเริ่มต้นจากโอกาส ที่เรียกว่า “มีของดีอยู่ในมือ” หาใช่ คำตอบ แต่จากการก้าวเข้ามาในจังหวะเวลาเหมาะสม มีทีมเพื่อนร่วมงานและคู่ค้าที่ดี เข้าใจนโยบายของแอปเปิล พร้อมด้วยจุดแข็งความเป็น/แบรนด์และผลิตภัณฑ์ “แอปเปิล” ต่างหากที่ช่วยเสริมให้การบริหารสิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น ตัวเองนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ

ด้วยบทบาทของพลังผู้บริหารไอทีรุ่นใหม่ อาศัยไลฟ์สไตล์ความเป็นสาวกแอปเปิลคนหนึ่ง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรมองทะลุข้อจำกัด สู่เป้าหมาย “คนไทยจะรู้จักสินค้าและเปลี่ยนทัศนคติกล้าใช้แอปเปิลมากขึ้นได้” สำหรับยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลแล้ว แม้แบรนด์ของบริษัทจะเป็นสัญลักษณ์รูปแอปเปิลแหว่งก็ตาม แต่รับรองได้ว่าการการบริหารงานในเมืองไทย ไม่มีคำว่า “แหว่ง” เหมือนแบรนด์ของบริษัทแน่นอน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *