“บทความมินิซีรีย์เรื่องยาว เพื่อความเข้าใจทั้งทางด้านเทคนิค การประยุกต์ใช้งาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายอัตราเร็วสูง”
ปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้กลายเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คนจำนวนมาก และยังคงมีแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับขยายจำนวนของผู้ใช้บริการที่มีอยู่ทั่วโลก ในอีกมุมหนึ่ง รูปแบบการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป จากการใช้งานเพื่อสนทนาระหว่างบุคคล ซึ่งอาจมีบริการเสริมในรูปแบบต่างๆ เช่น การโอนสาย (Call forwarding) การประชุมหลายสาย
(Call conference) หรือการใช้บริการประเภท Audio Text ไปเป็นการสื่อสารข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดเสียงเรียกเข้า การรับส่งข้อมูลแบบ MMS (Multimedia Messaging Service) การท่องอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ และยังมีแนวโน้มว่าจะมีการสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับและส่งข้อมูลปริมาณสูงขึ้นในอนาคต
เทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เองก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากสายตระกูลของเทคโนโลยีที่มีอยู่หลายตระกูล เช่น GSM หรือ CDMA แล้ว ในเทคโนโลยีสายตระกูลหนึ่งๆ เองก็มีการกำหนดมาตรฐานใหม่ๆ ที่สามารถรองรับการสื่อสารข้อมูลที่มีอัตราเร็วสูงขึ้น พร้อมกับขีดความสามารถใหม่ๆ เพื่อทำให้เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นเครือข่ายสื่อสารมัลติมีเดียแบบไร้สาย อันเป็นที่รับรู้กันในชื่อของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่3 (Third Generation Mobile หรือ 3G) และยุคต่อๆ ไป เช่น 4G
อย่างไรก็ตาม ความต้องการสื่อสารข้อมูลแบบไร้สายของผู้บริโภคทั่วโลก กลับมีการพัฒนาที่รวดเร็วยิ่งกว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความแพร่หลายของบริการสื่อสารข้อมูลอัตราเร็วสูง ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อของการ “สื่อสารแบบแถบสัญญาณกว้าง” หรือ “บรอดแบนด์” (Broadband communication) ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในเครือข่ายสื่อสารแบบใช้สาย
ตัวอย่างที่พบเห็นกันก็คือ เทคโนโลยี DSL (Digital Subscriber Line) ที่สามารถรับส่งข้อมูลด้วยอัตราเร็วสูงผ่านคู่สายโทรศัพท์ และมีบริการต่อเนื่องเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการสื่อสารแบบมัลติมีเดีย ทำให้
ผู้บริโภคคุ้นเคย และตั้งความหวังกับเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายว่าจะต้องสามารถรองรับพฤติกรรมการใช้งานของตนได้เช่นเดียวกับการใช้งานเทคโนโลยีบรอดแบนด์ผ่านเครือข่ายสื่อสารแบบมีสาย ซึ่งในทางปฏิบัติ คุณลักษณะและข้อจำกัดต่างๆ ของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน
ยังไม่อาจตอบรับความต้องดังกล่าวได้
เทคโนโลยีการสื่อสารแบบไร้สายชนิดใหม่ ๆ นอกเหนือจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับการออกแบบขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานสื่อสารข้อมูลปริมาณมากผ่านทางความถี่คลื่น วิทยุ พร้อมทั้งแก้ไขข้อจำกัดหลาย ๆ ประการที่มีอยู่ในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เทคโนโลยี WiMAX เป็นหนึ่งในทางเลือกดังกล่าว
ซึ่งบทความชุดนี้จะกล่าวถึงความต้องการของตลาดสื่อสารไร้สาย รายละเอียดทางเทคนิค แนวทางในการทำธุรกิจ และการวางกลยุทธ์เพื่อให้บริการ WiMAX อย่างมีประสิทธิภาพ
ความคาดหวังต่อเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย
ในมุมมองของผู้ประกอบการเครือข่ายสื่อสารไร้สาย เทคโนโลยีที่สามารถตอบรับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ย่อมจะต้องสามารถทำให้ผู้ใช้บริการของตนสามารถรับส่งข้อมูลใด ๆ ก็ได้ (any information) โดยไม่ขึ้นกับเวลา (any time) และไม่ขึ้นกับสถานที่ (any place) และจะต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานในการรับส่งข้อมูลด้วยอัตราเร็วที่สูงมาก อีกทั้งยังมีเสถียรภาพ ทำให้สามารถส่งผ่านข้อมูลโดยไม่เกิดความผิดพลาด หรือล่าช้า จนทำให้อรรถรสหรือสาระสำคัญของข้อมูลลดทอนไป
นอกจากนั้นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายอัตราเร็วสูงที่ดี ยังจะต้องมีรูปแบบในการรับส่งสัญญาณเสียงที่ดีขึ้นเหนือกว่าการสื่อสารผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่ว ๆ ไป โดยรวมย่อมหมายความว่าจะต้องมีประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างสูงสุด
เมื่อพิจารณาถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย ซึ่งทั้งหมดใช้คลื่นวิทยุเป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้บริการโดยมีอุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ PDA (Personal Digital Assistant) เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร กับเครือข่ายซึ่งมีสถานีฐาน (Base Station) หรือจุดเชื่อมต่อ (Access Point) เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารผ่านทางคลื่นวิทยุ