โทรตปท . กสท ระส่ำ หลังสัญญาเอื้อโปรลิงค์ฯ

โทรต่างประเทศ กสท ระส่ำ สหภาพฯเผยบอร์ดทำสัญญาไม่ชอบธรรม เอื้อบริษัท โปรลิงค์ ทำการตลาดแข่ง รายได้จริงเหลือเพียง 8% ขณะที่ไม่มีระบบตรวจสอบปริมาณรายรับ – รายจ่ายที่แท้จริง ทบทวนสัญญาไม่ได้ ส่วนบริษัทโปรลิงค์ขอต่อสัญญา พร้อมขยายบริการขาออกเพิ่มเติม ด้านสมพล ปฏิเสธลั่นไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ขณะที่สายงานการตลาดเผยขณะนี้คณะทำงานอยู่ในระหว่างการพิจารณา

วัฒนะ เอี่ยมบำรุง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชนเปิดเผยถึง จากกรณีที่บมจ . กสท โทรคมนาคม ได้ทำสัญญาร่วมกันทำตลาดในธุรกิจโทรต่างประเทศเฉพาะขาเข้ากับบริษัท โปรลิงค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 47 และสิ้นสุดสัญญาในเดือนสิ้นเดือน พ.ค. 49 ซึ่งมีจิรชัย สีจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการเครือข่าย เป็นผู้ลงนามร่วมกับเวทิศ ประจวบเหมาะ และณัฐภพ ภูริเดช กรรมการบริษัท โปรลิงค์ ฯ นั้นพบว่าเงื่อนไขสัญญามีการระบุทำให้ กสท โทรคมฯเสียผลประโยชน์

โดยส่วนแบ่งรายได้ที่ กสท โทรคมฯ ได้รับปีแรก (1 มิ.ย. 47 – 31 พ.ค. 48) 15 ล้านบาท จากจำนวนการโทรเข้าจาก ต่างประเทศของบริษัท โปรลิงค์ ฯ ประมาณ 40 ล้านนาทีต่อปี

วัฒนะ กล่าวอีกว่า เงื่อนไขสัญญาดังกล่าวถือว่าไม่ชอบธรรม เนื่องจากระบุว่า บริษัท โปรลิ้งค์ฯ ต้องประกันรายได้ขั้นต่ำ ในเดือนที่ 1-12 ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทและในเดือนที่ 13-24 ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท โดยยังไม่มีการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ความจริงแล้ว กสท โทรคมฯจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้กลับคืนให้บริษัท โปรลิงค์ ฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 92% ดังนั้นจึงมีรายได้จริงจากบริการเพียง 8% เท่านั้น

นอกจากนี้ กสท โทรคมฯ ยังไม่สามารถตรวจสอบปริมาณรายรับ – รายจ่าย หรือ Call Detail Record (CDR) ได้

ขณะเดียวกันในสัญญายังระบุว่า กสท โทรคมฯจะสามารถทบทวนสัญญาใหม่ได้ เฉพาะกรณีปริมาณทราฟฟิกขาเข้าลดลง 20% เท่านั้น ซึ่งในปี ’48 กสท โทรคมฯ มีกำไรจากบริการโทรต่างประเทศเฉพาะขาเข้า ไม่รวมกับรายได้ของบริษัท โปรลิงค์ฯ จำนวน 1,650 ล้านบาท จากปริมาณทราฟฟิก 569 ล้านนาทีต่อปี

ขณะที่ กสท โทรคมฯ มีรายได้รวมทั้งหมด 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากจะทบทวนสัญญาจะต้องมีรายได้ลดลง 600 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเงื่อนไขสัญญาระบุว่าให้บริษัทโปรลิงค์ฯจ่ายส่วนแบ่งรายได้เพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้สัญญาดังกล่าวคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติย้อนหลังถึง 4 เดือน ภายหลังจากบริษัท โปรลิงค์ฯ ได้ดำเนินธุรกิจ ไปแล้ว โดยสัญญาเป็นมติคณะกรรมการซึ่งไม่ผ่านการเห็นชอบของอัยการสูงสุด ไม่มีระบบตรวจสอบถูกต้อง และปัจจุบันบริษัทดังกล่าวได้ยื่นขอลดค่าส่วนแบ่งรายได้ลงอีก 50 % ในปีที่ 3 เหลือเพียง 150 ล้านบาท

วัฒนะ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นผลเสียจากการทำสัญญาให้บริษัทโปรลิงค์เข้ามาร่วมทำตลาดในต่างประเทศ คือ ทำให้ลูกค้าเกิดความสับสนในบริการ ซึ่งมี 2 บริษัท คือ CATTELECOM และ CATTELECOM BY PROLINK และเป็น การหาลูกค้าซ้ำซ้อนกับ กสท โทรคมฯ โดยบริษัทได้เสนอราคาที่แตกต่างจาก กสท ในอัตรา 5 บาทต่อนาที ขณะที่บริการ 009 คิดในอัตรา 7 บาทต่อนาที ทำให้กสทจะต้องลดราคาลงมาเพื่อแย่งฐานลูกค้า

ด้านสมพล จันทรประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานร่วมกิจการ บมจกสท โทรคมนาคม กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดเพราะยังไม่มีรายงาน ในขณะที่การต่อสัญญาให้กับบริษัท โปรลิงค์หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ ฝ่ายการตลาดเป็นผู้เจรจา

ขณะที่ มารุต บูรณะเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจกสท โทรคมนาคม กล่าวว่า กรณีบริษัท โปรลิงค์ขอต่อสัญญาและขยายการให้บริการขาออกต่างประเทศเพิ่มเติมนั้น คณะทำงานยังอยู่ในระหว่างเจรจา ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

ก่อนหน้านี้ มารุต กล่าวว่า สำหรับรายได้ของบริการโทรต่างประเทศ ทั้ง 001 และ 009 พร้อมทั้งบริการเสริม ตั้งแต่ เดือน ม.ค.- มี.ค. 49 มีรายได้เฉลี่ย 800 ล้านบาทต่อเดือน หรือรวม 2,400 ล้านบาท โดยตั้งเป้ารายได้ปี 49 จำนวน 11,646 ล้านบาท จากเดิมมีรายได้ในปีที่ผ่านมาจำนวน 11,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กสท โทรคมฯ ได้ปรับอัตราการให้บริการ CAT009 โดยมีอัตราต่ำสุด 5 บาทต่อนาที จำนวน 14 ประเทศ ได้แก่ อลาสก้า บรูไน แคนาดา จีน กวม ฮาวาย ฮ่องกง คูเวต ลาว มาเก๊า มาเลเซีย รัสเซีย สิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา โดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 1 พ . ค .49 เป็นต้นไปสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในส่วนต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งแยกคิดค่าใช้บริการ ไปยังเลขหมายปลายทางทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ออกจากกัน รวมทั้งสิ้น 41 ประเทศ

“การปรับลดราคาดังกล่าวเป็นการกระตุ้นยอดการใช้บริการโทรต่างประเทศจากโทรศัพท์พื้นฐานมากขึ้น ภายหลังจากพบว่าพฤติกรรมการโทรของประชาชนเปลี่ยนเป็นการเรียกออกจากโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้นถึง 60% ขณะที่การเรียกออกจากโทรศัพท์พื้นฐานเหลือเพียง 40% ขณะเดียวกันยังเป็นการกระตุ้นจำนวน ทราฟฟิกให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้การปรับราคาจะทำให้ กสท โทรคมฯ สูญเสียรายได้ประมาณ 30 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 360 ล้านบาทต่อปี”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *