ยิ่งสางยิ่งยุ่ง… พับแผน IPO วงในชี้ ทีโอทีไม่เป็นจำต้องหาเงินทุน

ทีโอที ฝันสลายที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สารพันยิ่งสางยิ่งยุ่ง ภาพพจน์ไม่ชัดเจน ศึกนอกศึกใน ทำให้องค์กรอ่อนแอ กทช. ร่อนหนังสือ ให้หยุด เก็บเงิน 1133 ด้านซีอีโอ ประกาศจุดยืน ทีโอที ต้องสร้างรายได้แข่งกับ เอกชน นักวิชาการแนะทางออกให้ 1133 จัดอยู่ในหมวดของ USO แบบที่ใช้ในต่างประเทศ

วงในชี้ ทีโอที คงไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดฯได้ หากคงสัมปทานไว้ สามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องระดมทุน พร้อมปรับแผนโทรสาธารณะ เสริมรายได้ ปรับฮัลโหล 470 บวกไอพีสตาร์ทดแทนระบบเก่า หวังกระตุ้นรายได้ โทรฯอีสาน 960 ล้านบาทต่อปี

ทีโอทีรัฐวิสาหกิจอันดับต้นของประเทศ มูลค่าแสนล้าน ที่รัฐบาลคาดหวังจะผลักดันเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย มีอันต้องพับแผนการเข้าตลาดฯ หลากหลายปัญหาที่แก้ไม่ตก ผูกโยงกันไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเป็น สัมปทานที่มีผลต่อการฟ้องร้องหลายสัญญาที่มีผลกระทบต่อภาพพจน์องค์กร ทิศทางการบริหารงาน ที่ยังไม่สามารถ หาจุดยืนได้ จะเป็นแบบเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ กระทั่งล่าสุด กทช.ร่อนหนังสือให้หยุดเก็บเงิน 1133

แหล่งข่าวระดับสูง จาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอทีคงไม่สามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากปัญหาคดีฟ้องร้องกับบริษัทร่วมการงานที่ยังมีอีกหลายคดี ที่มีลักษณะคล้ายคดีของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ทีโอทีแพ้ไปก่อนหน้านี้ โดยกระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้เวลามาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ ของนักลงทุน หากต้องชี้แจงให้นักลงทุนเข้าใจ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าคงไม่มีนักลงทุนสนใจซื้อหุ้นของทีโอที

แนวทางการขายหุ้นของทีโอที เป็นหุ้นของกระทรวงคลัง โดยเงินที่ได้จะมีการเข้าคลังทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจาก รัฐวิสาหกิจอื่น ที่มีการนำเงินที่ได้ไปลงทุน เพื่อขยายกิจการเพิ่มเติม ขณะที่ ทีโอที มีกระแสเงินเพียงพอต่อการลงทุน ในโครงการต่างๆ โดยไม่ต้องระดมทุนด้วยการขายหุ้นหรือการแตกหุ้นเพิ่มทุน

อย่างไรก็ตาม ทีโอทีมีวัฒนธรรมการทำงานในลักษณะรัฐวิสาหกิจผูกขาดมานาน และอยู่ภายใต้กฎระเบียบของรัฐ ทำให้การบริหารงานเป็นไปด้วยความล่าช้า ไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ ยกตัวอย่าง ถ้ามีการจัดซื้อสินค้ารายการหนึ่ง ขึ้นมา ต้องมีคณะกรรมการร่างทีโออาร์ เข้าบอร์ดอนุมัติก่อนถึงสามารถจัดซื้อได้ ใช้ระยะเวลานาน ถ้าเป็นเอกชนวันนี้ บอกว่าอย่าได้สินค้ารายการนี้ อีก2 วันก็ซื้อได้

ปัญหาหลักของทีโอที อยู่ที่ “คน” โดยเฉพาะจำนวนพนักงานที่มีอยู่กว่า 20,000 คน ซึ่งไม่สามารถปลดออกหรือให้ออกได้ ส่วนการรับมืออาชีพเข้ามาทำงานก็จะได้รับการต่อต้านจากบุคลากรภายในองค์กร

“ การบริหารทีโอทีให้มีประสิทธิภาพนั้น คงต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ทั้งหมด แบบชุดใหญ่ แล้วรับคนนอกเข้ามา เปลี่ยนกฎระเบียบใหม่หมด ซึ่งจะสามารถประคับ ประครอง องค์กรต่อไปได้ แต่ในความเป็นจริง ฝ่ายบริหารคงไม่สามารถ ดำเนินการแบบนั้นได้ ” แหล่งข่าวระดับสูง กล่าว

นอกจากนี้ยังไม่ปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอกอีก เช่น สถานภาพของทีโอที จากมุมมองของกทช. ที่มองว่าทีโอทีเป็นรัฐ หรือเอกชน ทำให้เงื่อนไขและแนวทางการปฎิบัติต่อทีโอทีเป็นแบบไหน เพราะเงื่อนไขของ กทช.บางครั้งก็จะมีการอ้างว่า ทีโอทีเป็นรัฐบางครั้งก็เป็นเอกชน ทำให้เกิดความสับสนต่อการทำงาน

เลื่อนเข้าตลาดไม่มีกำหนด

ธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ ทีโอที กล่าวว่า สำหรับแผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯคงต้องรอการประชุม คณะกรรมการระดมทุน คาดว่าจะต้องเลื่อนระยะเวลาออกไปจากเดิม ตั้งเป้าไว้ไตรมาสที่ 2/49 โดยไม่มีกำหนด แต่คงไม่สามารถนำบริษัทเข้าตลาดฯได้ทันภายในปีนี้ เนื่องมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น แพ้คดีบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถเข้าระดมทุนได้ก็ไม่มีผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากไม่มี ปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเงินและหนี้สินแต่อย่างใด

นอกจากนั้น การที่บมจ.ทีโอทีจะเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้การระดมทุน เนื่องจากเป็นเพียงการกระจายหุ้น ของกระทรวงการคลัง ที่ถืออยู่ในบริษัท 100 % ออกไปเท่านั้น โดยรายได้จะเข้าสู่กระทรวงการคลังทั้งหมด

ส่วนปัจจัยเสี่ยงทางด้านธุรกิจนั้น บมจ.ทีโอทีได้ปรับแผนจากธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐานเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามเทรนด์การหลอมรวมเทคโนโลยีในปัจจุบันแล้ว นอกจากนั้นยังเน้นให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บร์อดแบนด์) และเร่งผลักดันให้เกิดระบบ 3จีให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็ว

ห้ามแตะแอ็คเซ็ส ชาร์จ

ธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กทช.) ได้ส่งหนังสือขอให้ทีโอทียุติการเรียกเก็บเงินบริการสอบถามเลขหมาย 1133 ว่า จะทำหนังสือส่งกลับ ไปให้ กทช. ถึงสาเหตุที่ต้องมีการเรียกเก็บค่าบริการ 3 บาท เนื่องจากทีโอทีจำเป็นต้องหารายได้จากบริหารดังกล่าว เพราะมีภาระต้นทุนสูง ซึ่งเงินที่ได้มานั้น ก็จะกลับไปในรูปแบบของพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งวันนี้ สายที่เรียกเข้าสำเร็จถึง 96%

กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการเรียกเก็บเงินนั้น ทีโอทีได้มีการประกาศประมาณกลางเดือนม.ค.49 ที่ผ่านมา เริ่มเก็บค่าธรรมเนียม 1 ก.พ.ที่ผ่านมา วันนี้ผ่านมาเดือน กทช.ถึงมาบอกว่าต้องเลิกเก็บเงิน ผมถามว่า หากไม่ให้เก็บ กทช.โทรมาบอกสักคำได้หรือไม่

“เหตุผลของ กทช.ที่มองว่าเป็นบริการที่ดำเนินการก่อนที่ ทีโอทีได้รับใบอนุญาตนั้น หากเป็นอย่างนั้น ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (แอ็คเซ็ส ชาร์จ)ของทีโอที ก็ต้องคงเอาไว้ เพราะเป็นบริการที่เกิดก่อนได้รับใบอนุญาต ดังนั้นไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้ ระบบอินเตอร์คอนเน็ตชั่น ชาร์จ กทช.จะยอมมั๊ย” ธีรวิทย์ กล่าว

1133 เป็นบริการประชาชนไม่ควรเก็บเงิน

สุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช. กล่าวว่า บริการสอบถามเลขหมาย 1133 นั้น เป็นบริการที่ไม่มีการเรียกเก็บเงิน ก่อนที่กทช.จะมีการออกใบอนุญาตให้ทีโอที หากมีการเปลี่ยนทีโอทีควรจะแจ้งให้ กทช. ทราบ เดิมอัตราค่าบริการ โทรคมนาคม เป็นเรื่องที่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี หลักการเดียวกันหากทีโอทีจะเรียกเก็บเงินก็ต้องแจ้ง กทช. ด้วย

อย่างไรก็ตาม กทช.ยังไม่มีออกกฎเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว จึงต้องการให้ทีโอทีหยุดเก็บเงินก่อนจนกว่า กทช. จะมีการประกาศ กฎเกณฑ์ออกมา ส่วนบริการสอบถามเลขหมายของผู้ให้บริการรายอื่นไม่ว่าจะเป็น บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น นั้นเป็นบริการที่มีการเก็บอัตราค่าบริการนั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้ โดย กทช. จะต้องมีการวิเคราะห์ต้นทุน ก่อนที่จะประกาศอัตราที่เหมาะสมต่อไป

นักวิชาการแนะต้องกำหนดเป็น USO

ดร. นิตยา สุนทรสิริพงศ์ นักวิชาการจาก Centre for International Research and Information (CIRI) กล่าวว่า บริการสอบถามเลขหมาย 1133 ในต่างประเทศไม่มีการเรียกเก็บเงิน ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ กทช. ควรจะกำหนดบริการ สอบถามเลขหมายเป็นบริการสาธารณะ (USO) โดยใช้วิธีการเปิดประมูล ผู้ให้บริการรายไหนต้องการทำ ก็ประมูลเข้ามา โดยกทช.ต้องชดเชยเงินให้ในรูปของ USO

ดร.นิตยา กล่าวว่า การสอบถามเลขหมายเป็นบริการฟรี ที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถ้ามองให้เป็นธรรม ทีโอทีก็มี ค่าใช้จ่ายจากบริการ กทช.คงต้องหาเงินมาชดเชยทีโอทีด้วย ซึ่งอนาคตคงต้องประมูลให้โอปอเรเตอร์ทุกรายที่สนใจ เข้ามาประมูลเพื่อให้บริการไม่จำเป็นต้องทีโอที

โดยความเห็นส่วนตัว มองว่า กทช.คงเห็นว่าทีโอทีไม่ควรเก็บเงิน เพราะมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% เท่ากับรัฐ เป็นเจ้าของ โดยบริการ1133 เป็นบริการประชาชน ทีโอที ก็ควรจะเป็นคนทำแทนเอกชน เนื่องจากเป็นหน่วยงานของรัฐ

วันนี้ กทช.ต้องกำหนดรูปแบบทีโอทีให้ชัดก่อนว่าต้องการให้ทีโอทีอยู่ในฐานะไหน ถ้าเป็นรัฐก็ต้องประกาศให้ชัดเจน หรือต้องการเป็นเอกชน ก็ต้องปลดล็อคสัญญาสัมปทานให้ทุกราย มีสถานะเท่าเทียมกัน เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม

วิธีการคิดส่วนแบ่งรายได้1133

ธีรวิทย์ กล่าวต่อว่า ทีโอทีจะขอแบ่งรายได้ 50 % จากบริการ 1133 ซึ่งเริ่มคิดค่าบริการ 3 บาทต่อนาที ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาจากบรรดาโอเปอเรเตอร์ ขณะที่รายได้อีก 50% นั้นจะแบ่งวิธีการคำนวณตามลักษณะของโทรศัพท์ ที่ระบุในสัญญา ร่วมการงาน 4 ประเภท ได้แก่ 1.โทรศัพท์พื้นฐาน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จะต้องจ่ายให้บมจ.ทีโอที 18 % เนื่องจากสัญญาร่วมการงานและร่วมการลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย ในเขตนครหลวง

ทีโอทีจะแบ่งรายได้จากค่าบริการที่ได้รับจริงก่อนหักค่าใช้จ่าย ในอัตรา 84 % สำหรับจำนวน 2 ล้านเลขหมาย และ 79 % สำหรับ 6 แสนเลขหมาย และในกรณีที่บริษัทมีกำไรเกินเกณฑ์ปกติ (Excess Profit) ให้บริษัทแบ่งกำไร ที่เป็นส่วนเกิน หลังหักภาษีจาก 16-20 % ให้แก่ ทีโอที 30 % และสำหรับส่วนที่เกินจาก 20 % ให้บริษัทแบ่งให้แก่บมจ.ทีโอที 60 % ตลอดอายุสัญญาเป็นเวลา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค.35

ขณะที่บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) จะต้องแบ่งรายได้ค่าบริการในอัตรา 43.1 % สำหรับ 1 ล้านเลขหมาย และ 45.5 % สำหรับ 5 แสนเลขหมาย เป็นเวลา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.36

2.โทรศัพท์สาธารณะประเภทหยอดเหรียญ ในเขตนครหลวง ของบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำนวน 20,000 เลขหมาย และบมจ.ทีทีแอนด์ที จะคิดในอัตรา 23.5 % ตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาฯเรื่อง โทรศัพท์สาธารณะ ที่ระบุว่า บมจ.ทีโอทีจะแบ่งรายได้ค่าใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะภายในประเทศ ตามที่บริษัทฯชำระให้หลังหักภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกแล้ว จำนวน 76.50 % นับตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.40 จนกระทั่ง 29 ต.ค.60 และ 3.โทรศัพท์สาธารณะประเภทชิพ การ์ด จะแบ่งรายได้จำนวน 27%

ส่วน4.โทรศัพท์เคลื่อนที่ แบ่งออกเป็น 3 บริษัทหลัก ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส จะต้องแบ่งจ่ายรายได้จากบริการให้แก่ บมจ.ทีโอที ในอัตรา 30 % สำหรับระบบเหมาจ่ายรายเดือน (โพสต์เพด) และ 20 % สำหรับระบบเติมเงิน (พรีเพด) 2. บริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 25 % และ3.บริษัท ทรูมูฟ จำกัด 20 % ตามลำดับ

ทั้งนี้ปัจจุบันบมจ.ทีโอทีมีรายได้จากสัญญาสัมปทาน จำนวน 5 ฉบับ เช่น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.ทีทีแอนด์ที บมจ.เอไอเอส และสัญญาอนุญาต ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อเดือน สังเกตได้จากรายได้ล่าสุดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ประมาณ 20 วัน เป็นจำนวน 4.8 ล้านบาท

เตรียมเลิกสัญญาโทรสาธารณะ

ธีรวิทย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการว่า ทีโอที มีแผนจะยกเลิกสัญญาบริการโทรศัพท์สาธารณะ ที่ให้เอกชน ไปดำเนินการประมาณ14 ราย ปัจจุบันมีเพียงสัญญา 4-5 รายเท่านั้นที่ยังมีการดำเนินงาน โดยทีโอทีจะเรียกคู่สัญญา เข้ามาเจรจาต่อไป

สำหรับสัญญาเช่าเครื่องโทรศัพท์สาธารณะประกอบด้วย 1. บริษัท ไทยอีเลคทริค คอร์ปอเรชั่น จำกัด 2. บริษัทเอเซีย พิบบลิคโฟน จำกัด 3. พับบลิค โฟนเซอร์วิส จำกัด 4. บริษัท ลิคดิ้ง พับบลิค เพย์โฟน จำกัด 5. บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด 6. บริษัท ไวร์เอด แอนด์ ไวร์เลส จำกัด

7. แอดว๊านซ์ อินโฟร์เมชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด 8. บริษัท อุ่นกวง จำกัด 9. บริษัท ฟิวเจอร์ เทเลคอม จำกัด 10. บริษัท ทีพีพี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ 11. บริษัทมิลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด

นอกจากนี้มีการยกเลิกสัญญากับ บริษัท ยูไนเต็ดบร์อดแบนด์ เทคโนโลยี จำกัด (ยูบีที) ผู้ให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านข่าย สายท้องถิ่น ประเภท สายทองแดง โดยมีความเร็วสูงสุด 2.048 Mbps โดยจะมีการใช้บริการในลักษณะ Virtual Private Network (VPN) โดยมีระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 25 ปี โดยเป็นบริษัทร่วมทุนของ บมจ. ทีโอที ที่เข้าไปถือหุ้นอยู่ ในสัดส่วน 49 % บมจ. ยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่นอินดัสตรี หรือยูคอม

ยกเลิกเอเชีย มัลติมีเดีย ไม่ได้

ส่วนบริษัท เอเชีย มัลติมีเดีย จำกัด ผู้ให้บริการเช่าวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงผ่านโครงข่ายมัลติมีเดีย ได้มอบหมายให้ ชาตรี สหเวชภัณฑ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ตรวจสอบฐานะทางการเงินของบริษัท ดังกล่าว ภายหลังสัดส่วนหุ้นลดลง เหลือเพียง 8.9 % จากเดิม 10 % แต่ยังไม่สามารถยกเลิกได้ เนื่องจากยังมีสัญญาผูกพัน

ปรับแผนโทรฯสาธารณะ
ดัน 470-ไอพีสตาร์ทดแทน

ธีรวิทย์ กล่าวว่า ทีโอที มีแผนปรับปรุงการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะนอกข่ายสายสื่อสาร ระบบ TDMA ทั่วประเทศ จำนวน 130,000 เลขหมาย จากจำนวนทั้งสิ้น 290,000 เลขหมาย โดยจะนำเทคโนโลยีระบบ ไอพีสตาร์ มาทดแทน เพื่อลดปัญหา ค่าบำรุงรักษา และปัญหาลักลอบขโมยสายไฟไปจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเช่าดาวเทียมของบริษัท สามารถเทเลคอม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด ซึ่งต้องเสียค่าเช่าช่องสัญญาณเป็นจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี ใกล้จะหมดสัญญาลงในช่วงเดือน พ.ค.นี้

ทั้งนี้เชื่อว่าภายหลังการเปลี่ยนเทคโนโลยี ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน จำนวน 68,000 เลขหมาย จะทำให้ บมจ. ทีโอที มีรายได้จากโทรศัพท์สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 บาท/เครื่อง/เดือน จากเดิม 600 บาท/เครื่อง/เดือน หรือประมาณ 960 ล้านบาท/ปี ส่วนโทรศัพท์ในข่ายสายนั้นปัจจุบัน บมจ.ทีโอที ติดตั้งและให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 2.9 แสนเลขหมาย ทั่วประเทศ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย (ARPU) ประมาณ 2,500-3,000 บาท

ประสานอัยการส่งศาลปกครอง

ธีรวิทย์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีอนุญาโตตุลาการตัดสินให้บมจ.ทีโอทีแพ้คดีค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 9.1 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 % นั้น ขณะนี้ได้ประสานอัยการ เพื่อรวบรวมเขียนสำนวนเตรียมส่งไปยังศาลปกครองภายในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งเป็นการเลื่อนระยะเวลาออกไปจากเดิม กำหนดไว้ 15 วัน เนื่องจากไม่สามารถรวบรวมได้ทัน เพราะ บมจ. ทีโอที เห็นว่ากระบวนการทางศาลปกครองนั้น รวดเร็วกว่าศาลยุติธรรม ส่วนจะยกเลิกสัญญาหรือไม่นั้นต้องหารือกับอัยการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาหลักฐานว่าบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นนั้นทำผิดเงื่อนไขสัญญาใดบ้าง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *