หมอสุชัยสั่งทีโอทีเร่งสรรหาซีอีโอคนใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน พร้อมมอบบอร์ดพิจารณาปลดล็อคเงื่อนไข พรบ.บริษัทมหาชนเปิดกว้างให้มีบุคคลทั่วไปเข้ามาสมัครมากขึ้น เผยตำแหน่งซีอีโอ กสทใกล้คลอด คาดรู้ผลภายในเดือนพ.ค. ขณะที่ระบบบิลลิ่งงยังเน่า ไอซีทีเปิดทางให้เอาท์ซอร์สบริษัท ตปท.แก้ปัญหาด่วน หลังสตง.จี้ตรวจสอบ
น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รักษาการรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าว ภายหลังดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคระกรรมการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ขอเข้าพบว่า ประธานทีโอทีเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับ การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนธีรวิทย์ จารุวัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่พ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น
ทั้งนี้ ทางกระทรวงไอซีทีในฐานะหน่วยงานต้นสำกัด ได้มอบนโยบายอย่างชัดเจนให้ทาง บมจ. ทีโอที เปิดกว้างให้ บุคคลลากรออกจากบริษัทโทรคมนาคมเป็นระยะเวลา 2 ปี สามารถเข้ามาสมัครได้ในตำแหน่งนี้ได้ แต่มีข้อควรระวังเกี่ยวกับ บุคคลที่มีผลประโยชน์ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflic of interest)ทางธุรกิจโทรคมนาคมมากที่สุด ซึ่งจะดำเนินการ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 60 วัน
รักษาการรัฐมนตรีไอซีที กล่าวต่อว่า สำหรับการคัดเลือกซีอีโอนั้น โดยส่วนตัวให้พิจารณาบุคคลที่มีเหมาะสม ซึ่งกระบวนการพิจารณาขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหาเป็นหลัก ทางทีโอทีต้องประกาศรับสมัครผ่านทางสื่อมวลชน เป็นระยะเวลานานกว่า 1 เดือน จากเดิมที่ พรบ.บริษัท มหาชน กำหนดให้มีการประกาศรับสมัครต่ำกว่า 3 วัน
ขณะที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหานั้น ไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที ต้องดำเนินการคัดเลือกกรรมการสรรหา ซึ่งยังไม่มีการแต่งตั้งแต่จะรีบเร่งให้เร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถสรุปได้ภายในสัปดาห์หน้า
ด้านแหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติผู้สมัครตำแหน่งซีอีโอ ทีโอทีนั้น คณะกรรมการได้มีการปรับเงื่อนไขเบื้องต้น เพื่อเปิดกว้างให้มีผู้สมัครมากขึ้น ดังนี้ 1.ต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี 2.เป็นผู้บริหารในบริษัทที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท จากเดิม 5,000 ล้านบาท 3.มีอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 450,000 บาทต่อเดือน และ4. ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่มีสัญญาร่วมการงานกับทีโอที พร้อมกับให้ผู้บริหารทีโอที สามารถสมัครได้
น.พ.สุชัย กล่าวว่า ส่วนการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นั้น คณะกรรมการยัง ไม่มีการรายงานให้ทราบ แต่เข้าใจว่าใกล้จะได้ข้อยุติ โดยคาดว่าจะทราบผลภายในเดือน พ.ค.นี้
ให้เอกชนเข้ามาเอาท์ซอร์ส
ระบบบิลลิ่งเพื่อแก้ปัญหา
รมต.ไอซีที กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาบิลลิ่งของบมจ.ทีโอที ได้รับรายงานว่าทางบริษัท เทเลเมติกส์ จำกัด ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ทีโอทีสูญเสียรายได้กว่า 149 ล้านบาท ดังนั้นจึงมอบนโยบายให้ คณะกรรมการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ หากจำเป็นต้องจ้างบริษัทเอกชนหรือต่างประเทศมาแก้ไข ก็รีบเร่งดำเนินการ หรือจะใช้วิธีเอาท์ซอร์สให้เอกชนดำเนินการแทน
แหล่งข่าวจากทีโอที กล่าวว่า ปัญหาระบบบิลลิ่ง ที่ไม่สามารถใช้งานได้นั้น ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบและสั่งการให้บมจ.ทีโอทีดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด โดยก่อนหน้านี้ธีรวิทย์ จารุวัฒน์ อดีตกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอทีได้ดำเนินการเรียกเก็บค่าเสียหายจากบริษัท เทเลเมติกส์ จำกัด แล้ว จำนวน 149,000,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.48 แต่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ และเรื่องดังกล่าวได้เงียบหายไป
นอกจากนี้ คณะทำงานแก้ไขปัญหาระบบบิลลิ่งได้เสนอแนวทางแก้ไข 3 แนวทางแก่คณะกรรมการทีโอที ดังนี้ 1. แก้ไขการป้อนข้อมูลการใช้บริการผ่านระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ( CRM ) และระบบประมวลการใช้และรับชำระบริการ (IMS) ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถป้อนข้อมูลได้ 2. ปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้สามารถเชื่อมโยงกันทั้งระบบซีอาร์เอ็มและไอเอ็มเอส และ 3. จัดมาตรการรองรับการเอาท์ซอร์สการพิมพ์ใบชำระค่าบริการ เนื่องจากปัจจุบันเครื่องพิมพ์ดังกล่าวไม่สามารถ ใช้งานได้จำนวน 1 เครื่อง จากเดิมมีทั้งสิ้น 2 เครื่อง ทำให้ไม่สามารถเก็บเงินได้กว่า 1,700 ล้านบาทต่อเดือน
ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว คณะกรรมการจะต้องนำบุคลากรที่มีความรู้เรื่องบิลลิ่งเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกย้ายไปประจำ หน่วยงานอื่นภายในบมจ. ทีโอทีกลับมาทำงานตามเดิม นอกจากนั้นบริษัท เทเลเมติกส์ จำกัด จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ตามที่ระบุในสัญญา ข้อ 6.3
ทั้งนี้ สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ปัจจุบันทีโอทีมีเลขหมายที่ไม่ได้รับการชำระค่าบริการ เนื่องจากไม่สามารถออกบิลลิ่งได้ เป็นจำนวนกว่า 70,000 เลขหมาย จากเลขหมายทั้งหมดเกือบ 4,000,000 เลขหมาย หากคิดเฉพาะค่าบำรุงรักษา 100 บาทต่อเลขหมาย พบว่าทีโอทีเสียหายไม่ต่ำกว่า 7,000,000 บาท ดังนั้นหากคิดค่าใช้บริการทั้งหมด จะทำให้ทีโอที เสียหายนับพันล้านบาท