บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพี ต่างรอดูความชัดเจนของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง แต่ไม่ส่งผลให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ถูกยกเลิกไป “Telecom Journal” ได้สำรวจความคิดเห็นของบรรดาผู้ประกอบการด้านธุรกิจอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพี ถึงผลกระทบในระยะสั้น และระยะยาว หลายรายเชื่อชะลอตัวลงทุนยันปีหน้า
แหล่งข่าวในวงการผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพี กล่าวความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การให้บริการอินเทอร์เน็ต หลังปฏิรูปการปกครองในวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ว่า บทบาทหลังจากนี้ต้องรอทางคณะปฏิรูปการปกครองประกาศอีกครั้ง ซึ่งหากมองในมุมด้านผลกระทบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ขณะนี้เห็นว่าไม่มีผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมาการเปิดเสรีของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของการให้บริการอินเทอร์เน็ตยังไม่ได้มีข้อกำหนดกติกาที่ชัดเจน จึงไม่ถือเป็นการเปิดเสรีเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นหากมีการตั้งคณะทำงานชุดใหม่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่อีกครั้งของตลาดอินเทอร์เน็ต
อีกทั้งสถานการณ์การลงทุนมองว่า ผู้ที่ได้รับสัมปทานไปก่อนที่จะมีการปฏิรูปการปกครองจะไม่ได้รับผลกระทบและสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ต้องดูประกาศจากคณะปฏิรูปอีกครั้งก่อน ส่วนกลุ่มที่ยื่นขอใบอนุญาตชุดใหม่เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมานั้น ยังไม่เห็นว่ามีรายใดที่เตรียมจะลงทุนทำโครงข่าย ร่วมถึงการขยายบริการด้านอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ ทั้งนี้ยังต้องรอความชัดเจนจากคณะปฏิรูปการปกครองที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรื่องใดบ้างมาใช้ระหว่างรอรัฐธรรมนูญใหม่
แผนควบรวมชะลอตัวถึงปลายปีหน้า
กิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม กรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรอิมเมจ เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า หลังจากนี้แนวโน้มการควบรวมหรือการเพิ่มทุนกับต่างชาติในธุรกิจไอเอสพีจะชะลอตัวไปถึงปลายปีหน้า ต้องรอความชัดเจนจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ในการกำหนดบทบาทหน้าที่ด้านองค์กรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. รวมถึงขอบเขตทำการค้ากับต่างประเทศ
“แม้ขณะนี้ไอเอสพีมีศักยภาพมากขึ้น สำหรับการร่วมทุนเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ในแง่ความรู้และเทคโนโลยี จากช่วงต้นปีหน้า ไอเอสพีเกือบทุกรายจะได้รับการทาบทามและร่วมเจรจาทางธุรกิจ โดยประเทศที่มีโอกาสมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ และอเมริกา อาทิ สิงห์เทลและเวิลด์เน็ต แต่ภาพที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงทำให้ต่างชาติยังรอดูสถานการณ์ก่อน”
กิตติพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจไอเอสพีไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว สร้างจุดแข็งและเน้นทำตลาดแตกต่างกัน เพราะในอนาคตต้องกลับมาแข่งขันกันเอง ควรแบ่งตลาดชัดเจนระหว่างรายใหญ่เจาะกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป ส่วนรายกลาง เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยทิศทางการทำตลาดของบริษัทยังต้องการให้ผู้บริโภค มองภาพในฐานะเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพี มีจุดดีในแง่ความน่าเชื่อถือและเป็นผู้ให้บริการมากกว่าเข้ามาทำธุรกิจฉาบฉวย เพื่อเสริมเป้าหมายจากไอเอสพีรายกลางกำลังก้าวไปเป็นรายใหญ่ในปีหน้า
“ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ธุรกิจการสื่อสารยังต้องขยายตัวและพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพียงแต่คณะการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องสร้างความชัดเจนหลังยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 40 อาจส่งผลถึงสถานภาพ กทช. ที่คอยกำกับดูแล ไอเอสพี หากเป็นโมฆะ ไอเอสพีจะกลับอยู่ใต้ กสท อีกหรือไม่ หากอยู่จะไม่เป็นผลดี เพราะขณะนี้เป็นคู่แข่งกัน ไอเอสพีคงไม่ยอม”
ไอเอสเอสพีขอต่อจิ๊กซอร์พันธมิตรใหม่
ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่นแอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด หรือ ไอเอสเอสพี มองว่า การเข้ามาลงทุนในตลาดไอเอสพีไทยปีหน้าต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียอาจจะยังไม่เกิด เพราะไม่มีความเชื่อมั่นจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แม้ไอเอสพีทุกรายพร้อมขยายความร่วมมือตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมหรือร่วมทุน เพื่อหนีการเข้ามาแข่งของธุรกิจบรอดแบนด์
ขณะเดียวกันบริษัทมุ่งสร้างความร่วมมือในแง่พันธมิตรลงทุนขยายแนวทางธุรกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศเป็นหลัก อาทิ การสร้างโครงข่าย IIG กับรายใหญ่อย่าง ทีโอที, ทรู อินเทอร์เน็ต หรือซีเอส ล็อกอินโฟ มากกว่าการควบรวมกิจการต่างชาติ มองว่ายังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
“คงต้องรอความชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอีกประมาณ 2 สัปดาห์ หรือการให้ใบอนุญาตใหม่อาจถูกดองยา แต่คาดว่าในระยะยาวจะเป็นผลดีกับธุรกิจไอเอสพี หาก กทช. เกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากนี้ เพราะที่ผ่านมาปัญหาต่างๆ ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากกทช. ขณะนี้ไอเอสพียังดำเนินบทบาทตามเดิม”
ส่วนภาพการแข่งขันในธุรกิจหลังจากนี้ ต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวตลอดเวลา แม้ว่าจะได้รับใบอนุญาตประเภท 1 แต่ไม่ได้มีผลต่อสัญญาร่วมทุนที่ทำกับ กสท กรณีถือหุ้นในธุรกิจไอเอสพี เกิน 25% ซึ่งยังเป็นเงื่อนไขทำให้ขยายธุรกิจไม่ได้ เพราะมีต้นทุนสูงกว่าธุรกิจไอเอสพีรายใหม่ที่ได้ใบอนุญาตเช่นเดียวกัน
ชี้ลงทุนไอเอสพีอืดอีก 3-6 เดือน
ทยาวัต อุนนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิก อินเทอร์เน็ต (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนไอเอสพีร่วมกับต่างชาติว่า คงชะลอตัวไปอีก 3-6 เดือน เพื่อรอความชัดเจนจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากที่ผ่านมาจะเห็นภาพชัดเจนประมาณปีหน้า แต่คาดว่าจะส่งผลดีระยะยาว ในแง่อำนาจการผูกขาดจากต่างประเทศจะหายไป โดยการกำหนดสัดส่วนและระยะเวลา ให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น ทำให้ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตประเทศไทยเกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติ ยังมองว่า ธุรกิจไอเอสพียังมีศักยภาพและปีหน้าตลาดรวมอินเทอร์เน็ตในไทย ยังเติบโต 25-30 % โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โตถึง 1 ล้านพอต จากปีนี้ 5 แสนพอต ซึ่งบริษัทมีแผนขยายธุรกิจต่อไป โดยจับมือกับพันธมิตรหลักเช่นเดียวกัน ควบคู่ไปกับการขอใบอนุญาตประเภท 2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กทช.