ตอน เทคโนโลยี WiMAX กับการเริ่มต้นของยุค Broadband Wireless Access
แม้ WiMAX จะเป็นเพียงหนึ่งในเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับการให้บริการสื่อสารไร้สายอัตราเร็วสูง อย่าง Broadband Wireless Access ซึ่งยังมีเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น HSDPA/HSUPA, CDMA 1X EV-DV หรือ Flash-OFDM และเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่าง IEEE 802.20 แต่ก็ต้องถือว่า WiMAX เป็นเทคโนโลยีแรกที่มีความพร้อมในการใช้งาน และได้รับการผลักดันโดยกลุ่มพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิต สถาบันด้านสื่อสารโทรคมนาคม และบรรดาผู้ประกอบการเครือข่ายโทรคมนาคมทั่วโลก ภายใต้กลุ่มความร่วมมือ WiMAX Forum
โดยมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาให้ WiMAX มีฐานะเป็นเทคโนโลยีสื่อสารแบบอินเทอร์เน็ตอัตราเร็วสูง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา มีพื้นที่ให้บริการที่กว้างมากกว่าใช้ Wi-Fi รองรับอุปกรณ์ทุกรูปแบบ ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ และอุปกรณ์พกพา เช่น PDA
เทคโนโลยี WiMAX หรือ Worldwide interoperability for Microwave Access มีวิวัฒนาการมาจากการเทคโนโลยีการรับส่งข้อมูล โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุย่านไมโครเวฟ ซึ่งเดิมมีรูปแบบการสื่อสารแบบเป็นเส้นตรง (Line of Sight หรือ LOS) และเป็นการเชื่อมต่อเพื่อส่งสัญญาณจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง (Point-to-point) โดยมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ WiMAX มีรูปแบบการสื่อสารแบบแพร่กระจายคลื่นวิทยุรอบทิศทาง (Omni-direction) หรือเฉพาะทิศทาง (Directional) โดยขึ้นกับการเลือกใช้ระบบสายอากาศ ถือเป็นการสื่อสารแบบไม่เป็นเส้นตรง (Non Line of Sight หรือ NLOS) เช่นเดียวกับการแพร่กระจายคลื่นวิทยุในกรณีของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูลาร์ทั่วไป
ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าเทคโนโลยี WiMAX ในเชิงพาณิชย์ มาตรฐานแรก ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนด IEEE 802.16d ซึ่งบางครั้งอาจเรียกชื่อว่ามาตรฐาน IEEE 802.16-2004 รองรับเฉพาะการสื่อสารข้อมูล ที่ผู้ใช้งานไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
โดยจะมีรุ่นที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน IEEE 802.16e รองรับการสื่อสารข้อมูลในขณะเคลื่อนที่ช้า ๆ (Portable) จึงทำให้ผู้เริ่มลงทุนสร้างเครือข่าย WiMAX ในระยะแรก ๆ ต้องจำกัดแผนธุรกิจของตนเองเป็นผู้ให้บริการ DSL แบบไร้สายไปยังบ้านเรือนที่พักอาศัย หรืออาคารสำนัก โดยถือเป็นการทดแทนการวางคู่สายทองแดงในกรณีของบริการ DSL ทั่วไป
ซึ่งในกรณีนี้ผู้ใช้บริการจะต้องติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ (Customer Premise Equipment หรือ CPE) ซึ่งจะทำหน้าที่รับส่งข้อมูลกับสถานีฐาน WiMAX และแปลงการเชื่อมต่อไปเป็นมาตรฐานอื่น ๆ เข่น Wi-Fi หรือจุดเชื่อมต่อแบบ USB หรือ Ethernet LAN สำหรับใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น ๆ ที่มีการใช้งานในบ้านหรือสำนักงาน ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่เหมาะสมในกรณีของพื้นที่ที่ไม่สามารถจัดวางคู่สายทองแดงได้โดยสะดวก หรือในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีต้นทุนในการวางคู่สายทองแดงสูง ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
อีกทั้งยังสามารถวางเครือข่ายเพื่อเปิดให้บริการได้โดยเร็ว โดยในทางทฤษฎีสถานีฐาน WiMAX ที่ได้รับการกำหนดแบนด์วิดท์ความถี่ให้กว้างที่สุด สามารถรองรับการสื่อสารข้อมูลด้วยอัตราเร็วสูงสุดถึง 75 เมกะบิตต่อวินาที เพียงพอที่จะแบ่งใช้งานให้กับผู้ใช้บริการหลาย ๆ รายได้พร้อม ๆ กัน มีเพียงปัจจัยในเรื่องของการกำหนดราคาค่าบริการที่จะต้องใกล้เคียงกับค่าบริการ DSL แบบใช้คู่สายโทรศัพท์ตามที่ให้บริการโดยทั่วไปได้เท่านั้นที่เป็นตัวกำหนดความนิยมและแพร่หลายของบริการในลักษณะนี้
นอกจากนั้นเมื่อเทคโนโลยี IEEE 802.16e ได้รับการพัฒนาจนพร้อมให้บริการในเชิงพาณิชย์แล้ว ผู้ให้บริการเครือข่ายก็สามารถพัฒนาซอฟท์แวร์ภายในสถานีฐานเหล่านี้ให้รองรับมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้บริการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ช้า ๆ ได้ อีกทั้งยอมให้ผู้ใช้บริการสามารถนำอุปกรณ์เครื่องลูกข่าย WiMAX ไปใช้งานข้ามสถานีฐาน หรือข้ามพื้นที่ให้บริการได้อย่างเสรีรูปที่ 11 เป็นการสรุปรูปแบบการให้บริการสื่อสารไร้สายแบบสาธารณะ โดยใช้เทคโนโลยี WiMAX มาตรฐาน IEEE 802.16d ซึ่งจะเห็นว่านอกเหนือจากการสื่อสารระหว่างสถานีฐานกับเครื่องลูกข่าย WiMAX ในลักษณะต่าง ๆ แล้ว ผู้ให้บริการเครือข่ายยังสามารถกำหนดให้สถานีฐาน WiMAX บางแห่งมีรูปแบบการส่งสัญญาณแบบ Line of Sight เพื่อใช้เป็นวงจรสื่อสัญญาณสำหรับส่งผ่านและลำเลียงข้อมูลระหว่างสถานีฐาน WiMAX ด้วยกันเองได้ ถือเป็นการอำนวยประโยชน์ต่อผู้ให้บริการเครือข่าย โดยไม่จำเป็นต้องจัดเตรียมหรือจัดหาอุปกรณ์หรือวงจรสื่อสัญญาณใด ๆ เพิ่มเติม
ในแง่ของการจัดสรรย่านความถี่คลื่นวิทยุ ข้อกำหนดมาตรฐาน IEEE 802.16 ระบุให้สามารถใช้ความถี่คลื่นวิทยุในย่านตั้งแต่ 10 – 66 กิกะเฮิตรซ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการออกใบอนุญาตจัดสรรความถี่ (Licensed Band) และย่านตั้งแต่ 2 – 11 กิกะเฮิตรซ์ ซึ่งเป็นย่านที่ไม่ต้องจัดสรรความถี่ (Unlicensed Band) สำหรับเปิดให้บริการสื่อสารข้อมูลไร้สายโดยใช้เทคโนโลยี WiMAX ทั้งนี้เมื่อมีการนำมาใช้งานในประเทศใด หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งในกรณีของประเทศไทยก็คือ กทช. มีสิทธิ์ที่จะกำหนดเงื่อนไขในการประกอบการว่าจะต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ พร้อมเงื่อนไขเพิ่มเติมอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสม