ทีดีอาร์ไอ จวก กทช.บกพร่องอืดอาดกลายเป็น “ตลกตกยุค” ขณะที่ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนผู้ประกอบการแล้ว 2 ราย ส่วน ทรูฯหรือทีเอ ออเร้นจ์ คงหาพันธ์มิตรลำบาก ระบุเหลือสัมปทาน 6 ปี ขณะที่การตัดค่าเสื่อมโครงข่าย ใช้เวลา10 ปี ด้าน อนุภาพ จี้ให้กทช.ใช้อำนาจทางกฎหมายบังคับให้เอกชนรายงานการถือหุ้นได้ คาดไม่เกิน3 ปี ต่างชาติกินรวบ ขณะที่นายกสมาคมโทรคมนาคมเผยเปิดเสรีโทรคมฯผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบ กทช. ต้องออกกฎเกณฑ์ชัดเจน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย เศรษฐกิจยุคสารสนเทศ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาประจำปีเรื่อง ” เปิดเสรีโทรคมนาคมใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ ที่จัดขึ้นโดยชมรมนักข่าว สายเทคโนโลยีสารสนเทศ ว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ควรจะออกกฎเกณฑ์ โดยมุ่งไปยัง การคุ้มครองผู้บริโภค และสร้างหลักการสำหรับการแข่งขันในตลาดอย่างมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง เพื่อประโยชน์ ของผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าตลาดได้ตลอดเวลา แม้ว่าขณะนี้ตลาดจะเหลือเพียงผู้ประกอบการ รายใหญ่เพียง 2 ราย
อย่างไรก็ตาม กทช. ยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไข คุณภาพและราคา สำหรับการแข่งขัน โดย กทช. ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุ้ม ผู้ประกอบกิจการบางราย แต่เปลี่ยนมาเป็นการคุ้มครองการแข่งขันแทน
สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอีก 3-4 ปีข้างหน้า ตัวแปรสำคัญการมีทุนจากต่างชาติเข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีทุนต่างชาติเข้ามาควบรวมกิจการ 2 รายใหญ่ ได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีเทคและ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส โดยคาดว่าบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการหาพันธ์มิตร จะตามมาในอนาคต
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า โดยความเห็นส่วนตัวมอง การหาพันธ์มิตรของ ทีเอ ออเร้นจ์ หรือ ทรู คงต้องใช้เวลาสักพัก เนื่องจาก ออเร้นจ์ เหลือสัมปทานประมาณ 6 ปี ขณะที่การลงทุนโครงข่ายที่ใช้เงินจำนวนมาก จะต้องมีการตัดค่าเสื่อมทางบัญชี ประมาณ10 ปี ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อ การตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาร่วมทุน
ขณะเดียวกัน เมื่อหมดสัญญาสัมปทาน เอกชนต้องกลับคืนสัญญากลับไปยัง บมจ.กสท โทรคมนาคม ทำให้ยังไม่ทราบ ความชัดเจน ดังนั้นอาจจะมีส่งต่อ ทีเอ ออเร้นจ์ โดยเฉพาะการลงทุนโครงข่าย 3 จี ต้องพึงพาเงินลงทุนของต่างชาติ
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า หาก ผู้ประกอบการรายที่ 3 สามารถให้บริการต่อไป จะมีผลต่อการแข่งขันในตลาดมือถือ แต่ถ้าเหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย ตลาดจะไม่มีการแข่งขันเต็มที่
นักวิชาการระบุ 4 ปัจจัย
มีผลต่อตลาด
ด้านดร.อนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการสถาบันการบริหารการสื่อสารไทย กล่าวว่า สภาพตลาดโทรคมนาคมไทย มี 4 ปัจจัย ที่มีผลต่อการแข่งขัน 1. การเปิดเสรี ซึ่งปัจจุบันทางพฤตินัยได้มีการเปิดตลาดไปแล้ว
เพราะ บริษัทโทรคมนาคมไทย มีต่างชาติเข้ามาควบรวมกิจการแล้วถึง 2 แห่ง ได้แก่ ดีแทค และชิน คอร์ป 2. เงื่อนไข การเปิดตลาดขึ้นอยู่ กทช. ตามอำนาจที่กำหนดในกฎหมาย 3. ผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย จะมีความได้เปรียบ หากมีการเปิดตลาดเสรีให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าตลาด และ 4. รัฐบาลจะต้องมีนโยบายแห่งให้ชัดเจนก่อนเปิดตลาด
“กทช. จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดัน ให้ตลาดเกิดประสิทธิภาพ ของการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมไทย เชื่อว่า การผูกขาดในตลาดเพียง 1-2 ราย ไม่ทำเกิดการแข่งขัน โดยจะเป็นการเพิ่มต้นทุน และลดประสิทธิภาพ กฎเกณฑ์ที่ออกมาช้า ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ยกตัวอย่างการเทคโอเวอร์ที่มีอยู่ทุกวัน” ดร.อนุภาพ กล่าว
ส่วนกลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนหรือกลุ่มองค์กรตัวแทนผู้บริโภค เป็นกลุ่มที่ยังอ่อนแอมาก ส่วนใหญ่จะมี ความรู้ด้านโทรคมนาคมน้อย การนำเสนอเป็นการตามข่าวมากกว่าสร้างประเด็นใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องเพิ่มองค์ความรู้ด้วยกัน เพื่อให้สื่อบทบาทที่เข้มแข็งมากขึ้น พร้อมผลักดันการเปิดเสรีอย่างเป็นธรรม
“ไม่เชื่อว่า นายทุนไทยหรือนายทุนต่างชาติ ใครจะใจดีกว่ากัน เพราะมีเป้าหมายสูงสุด เหมือนกัน โดยการแสวงหาผลกำไร หากทั้ง 4 องค์ประกอบมีบทบาทอย่างเหมาะสม ควรเปิดเสรีโทรคมนาคมไทย เพราะเป็นคุณและให้ประโยชน์กับประชาชน” ดร.อนุภาพ กล่าว
กทช. ละเลย ม. 54, 80 และ 8
ดร.อนุภาพ กล่าวถึง กรณี เทมาเส็ก เข้าควบรวม ชิน คอร์ปฯ ขณะที่ยังไม่มีการเสรี การควบรวมกิจการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ กทช. เนื่องจากพ.ร.บ.ประกอบกิจการธุรกิจโทรคมนาคม มาตรา 54 ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาต ที่ทำสัญญากับบริษัทหรือองค์กร ระหว่างประเทศ จะต้องส่งสัญญาที่ทำกับนิติบุคคลทุกฉบับให้แก่ กทช. และต้องขออนุมัติ ในการทำสัญญาเหล่านั้น โดยต้องมีการยื่นเอกสารกับกทช.ก่อน แต่ที่ผ่านมาเอกชนไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการ ซื้อขายหุ้นไม่สมบูรณ์ สามารถใช้มาตราดังกล่าวเพื่อล้มดีลได้
ส่วนมาตรา 80 ระบุว่า ผู้รับสัมปทานหรือผู้ให้บริการที่เกิดก่อนกฎหมายฉบับนี้ ให้มีสิทธิและหน้าที่เปรียบเสมือน ผู้รับใบอนุญาต ดังนั้น ดีแทคและเอไอเอส เข้าข่ายผู้ได้รับใบอนุญาต ซึ่งไม่สามารถอ้างว่า ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาต จึงไม่ต้องส่งเอกสารขออนุมัติจาก กทช. หากมองว่า กทช.ไม่มีกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ จะพิจารณา มาตรา 8 ที่ระบุถึงการครอบงำกิจการ ของชาวชาติ ดังนั้นการถือหุ้นอยู่ภายใต้การกำกับของ กทช.โดยตรง
“กทช. ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนรวม เช่น หลักเกณฑ์การกำหนดกิจการ คุณภาพขั้นต่ำของบริการ หรือแม้แต่จริยธรรม ซึ่งอยู่บนเรื่องดุลพินิจมากกว่าหลักการ มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมเกิดขึ้น 2 ครั้ง กทช. ไม่เคยออกมาพูดถึง การเข้าซื้อและครบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคมเลย ถ้ากทช. ยังไม่มีความตื่นตัว ก็จะเกิดกรณีปัญญาลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาทิ ไอทีวี อาจะถูกขายให้กับบริษัทนำเสนอภาพยนตร์สำหรับผู้ใหญ่ยามดึก ทั้งที่กฎหมายมีกำหนดไว้แล้ว” ดร.อนุภาพ กล่าว
กทช. หุ่นเชิด “ตัวตลกตกยุค”
ดร.สมเกีรยติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทช. กำลังกลายเป็น “ตัวตลกตกยุค” เนื่องจากในเอกสารกทช. เกี่ยวกับการสัมมนา วันที่ 10 ก.พ. 2549 เรื่องมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยมีข้อสำคัญที่น่าสนใจ ที่ระบุว่า จะสร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งไทยและต่างประเทศ ได้แก่ การลดภาระ การจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และปกป้องกิจการโทรคมนาคมของคนไทย ไม่ให้ถูกควบรวม กิจการจากต่างชาติได้
“ปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมไทยถูกเทคโอเวอร์แล้ว กทช. พึ่งจะให้ความสำคัญ แต่ยังสิ่งที่ฟ้อง กทช. เป็นตัวตลกตกยุค เสมอ กทช.ควรมองอะไรให้ไกลกว่า ต้นซอย สายลม จึงคิดนโยบายที่มุ่งแต่ส่งเสริมผู้ประกอบการให้เกิดความเข้มแข็ง โดยเอาเงินจากผู้เสียภาษีไปอุดหนุนผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อลดค่าธรรมเนียม เช่น คลื่นความถี่ ตามหลักวิชาการ สะท้อนอะไรหลายอย่าง แต่ กทช. ก็อ้างแบบไร้เดียงสาตลอดว่า ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นความจริง” ดร.สมเกียรติ กล่าว
นอกจากนั้นกระบวนการทำงานของกทช. ยังมีข้อบกพร่องหลายประการ ได้แก่ ประการแรก เรื่อง ธรรมาภิบาลขององค์กร ในการออกกฎเกณฑ์การปฏิบัติงาน การปกครอง และความโปร่งใส ซึ่งต้องมีกระบวนการที่ชัดเจน เช่น ต้นร่าง แสดงความคิดเห็น และสรุป แต่กระบวนการของกทช.ในปัจจุบันนั้นยังไม่มีมาตรฐานเพียงพอ
“กทช.มีข้อบกพร่อง เช่น การประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นแล้ว ยังไม่มีการตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่ ทำให้การออกกฎ ขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้เชื่อว่าการออกกฎนั้น กทช.มักมีคำตอบอยู่ในใจแล้วเสมอ และเหมือนเป็นเบี๊ยหัวแตก ขึ้นอยู่กับว่า คณะกรรมการท่านใดเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ” ดร.สมเกียรติ กล่าว
ประการที่สองเนื้อหาของกฎ โดยหลักการแล้ว การเปลี่ยนแปลงกฎต้องมีเงื่อนไข มีเหตุผลไม่ใช่เปลี่ยนตามอำเภอใจ ยกตัวอย่างเช่น ร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่นความถี่ ข้อ 8 ที่ระบุว่า กทช.อาจประกาศยกเว้นกฎข้างต้นได้ ซึ่งแสดง ให้เห็นว่า กทช. พร้อมที่จะเลี่ยงกฎตลอดเวลา เพราะฉะนั้นกฎจึงไม่มีความศักดิ์สิทธิ์
ประการที่สาม คือ ข้อกำหนดทางจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงาน เกี่ยวกับการรับทรัพย์สิน ซึ่ง กทช. ยังบกพร่องเรื่องนี้ ทั้งที่มีกฎของสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เรื่องการรับทรัพย์สินโดยธรรมจรรยา ตามมาตรา 31 ไว้แล้ว ซึ่งหากฝืนมีโทษทางอาญา หรือแม้กระทั่งทางองค์กรการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม FCC ยังมีการกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานรับรางวัลหรือของกำนัลได้ไม่เกิน 20 เหรียญ แต่ดูเหมือนกทช.มักจะละเลยจุดนี้
ประการสุดท้าย เรื่องความโปร่งใส เกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาในการออกกฎระเบียบ กทช. ยังไม่มีการชี้แจง หรือประกาศ ให้ประชาชนรับทราบ ทั้งๆที่ไม่ควรเป็นความลับหรือปกปิดแต่อย่างใด อีกทั้งยังจ้างบริษัทที่มีผลประโยชน์ (Conflict of interest) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมอีกด้วย
ยันโทรคมฯ ไทยต่างชาติกินรวบใน 3 ปี
ดร. อานุภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมไทยทางนิตินัยยังไม่เปิดเสรี แต่ทางพฤตินัยเปิดเสรีแล้ว แต่ใครจะ ได้เปรียบหรือเสียเปรียบนั้น ท้ายที่สุดบริษัทโทรคมนาคมไทยจะถูกควบรวมกิจการโดยต่างชาติทั้งหมดไม่เกิน 3 ปี แม้แต่ ทีโอทีและ กสท. ที่ขณะนี้แต่งตัวรอเข้าตลาดเพื่อขายอย่างเดียว รวมถึงยังมีอีกการเจรจาของบริษัทโทรคมนาคมไทย ที่รวมกันเอง ระหว่างฟิกไลน์กับโมบาย แค่อยู่ที่การเจรจาจะสำเร็จหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ไทยสมควรต้องเปิดเสรีโทรคมนาคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากได้เปิดเขต การค้าเสรี ภายใต้ กฎกติกาของ WTO แล้ว แต่รัฐบาลที่เจรจาข้อสัญญา ไม่มีการเตรียมพร้อมขาดพื้นฐานของการศึกษาวิจัย รวมถึงยังขึ้น อยู่กับรัฐบาลชุดนั้นกำลังต้องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อะไรอยู่ ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ปัญหาในขณะนี้
“สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แล้วแต่จะทำกันที่ระดับไหน เพราะกทช.ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาชน กทช. เป็นกรรมการตัดสินมวย ไม่ได้เขียนกติกากำกับว่านักมวยรุ่นไหนจะชกอย่างไร ขณะที่ กทช. เกิดขึ้นมากับ 2 กฎเกณฑ์ คือ การออกใบอนุญาต กำหนดลักษณะประเภทผู้ที่มีลักษณะตามใบอนุญาต และในส่วนการเทคโอเวอร์ รวมถึงการแข่งขัน ถ้าเทียบกฎเกณฑ์ที่ควรจะออก ขณะนี้เกิน 3 % ของกฎเกณฑ์ทั้งหมดแล้วหรือยัง ก็ไม่รู้เป็นอย่างไรปีนี้คงต้องรอดูต่อไป” ดร.อนุภาพ กล่าว
กทช. กุญแจสำคัญเปิดเสรีโทรคมนาคมไทย
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สภาพปัจจุบันที่มีอุปสรรคต่อการแข่งขันในตลาดสูงมาก จากกำแพงภาษีสรรพสามิตที่เลือกปฏิบัติ ในการคุ้มครองกิจการโทรคมนาคมไทย 112 % ทำให้ที่ผ่านมาการแข่งขันในตลาดยังไม่เต็มที่ มีปัญหาเรื่องคุณภาพบริการ และราคา แต่หากลดอุปสรรคด้านภาษีจะส่งผลให้ GDP ของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 23,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.47 % จากปัจจุบัน GDP ของประเทศอยู่ในระดับ 4.5-5%
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว ต้นทุนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมถูกลง เป็นประโยชน์ต่อสาขาอุตสาหกรรม การผลิตทั้งหมด ที่เป็นผู้บริโภคของกิจการโทรคมนาคม เช่น กิจการ โรงแรม สิ่งพิมพ์ ท่องเที่ยว บริการส่วนบุคคล บริการในครัวเรือน ร้านอาหารภัตตาคาร สถาบันการเงินธนาคาร บันเทิงและสันทนาการ รวมถึงกิจการโทรคมนาคมเองด้วย
นายกสมาคมฯชี้เอฟทีเอ
ไทยได้เปรียบสินค้าเกษตร
อนันต์ วรธิติพงศ์ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศในพระบรมชูถัมภ์ กล่าวว่า การเปิดเสรีโทรคมนาคม ภายใต้การเจรจาทวิภาคี (เอฟทีเอ) นั้น ไทยจะเสียเปรียบในธุรกิจบริการ โทรคมนาคม, โรงแรม และการท่องเที่ยว แต่ได้ประโยชน์ ด้านเกษตรกรรม เช่น การส่งออกข้าว และการประมง เป็นต้น หากอ้างว่าไม่พร้อมเปิดเสรีโทรคมนาคม จะทำให้ต่างชาติตั้งกำแพงภาษีสินค้าเกษตรบ้าง เพื่อปิดกั้นสินค้าของไทย
“หากต้องเปิดเสรี กทช. ที่มีหน้าที่กำหนด กฎเกณฑ์นั้น จะถือเป็นไพ่ใบสุดท้าย หากกทช.ออกกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรม ประเทศชาติก็พัง ดังนั้นกทช.ควรจะกำหนดเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม พยายามปกป้องใช้ทรัพยากร ของประเทศให้มากที่สุด และต้องทำโอนทรัพย์สินให้แก่รัฐภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน (Build Transfer Operate หรือ BTO) รวมทั้งกำหนดกฎเกณฑ์การพัฒนาบุคลากรไทยจากากรนำเข้าเทคโนโลยีสมัยใหม่”
อนันต์ กล่าวว่า ไทยเสียโอกาสทางธุรกิจโทรคมนาคมตั้งแต่ปี 2537 ที่นโยบายรัฐกำหนดให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าตลาดฯได้ ทำให้ประเทศไทย เสียเปรียบคู่แข่งต่างชาติ เช่น สิงเทล และชงหว่าจากไต้หวัน โดยปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทมี Capital Gain กว่า 15 เท่าแล้ว
หากมีการผลักดันให้บมจ.ทีโอทีและบมจ.กสท เข้าตลาดฯคิดว่า สายไปเสียแล้ว เพราะไทยไม่มีทางไล่ประเทศดังกล่าว ได้ทัน
ทั้งนี้จากวิเคราะห์โอกาสความเติบโตของตลาด จะพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการใช้โทรศัพท์เพียง 50 % ของประชากร เท่านั้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกงนั้นเรียกว่าตลาดถึงจุดอิ่มแล้ว เนื่องจากมีจำนวนเลขหมาย ที่ใช้งานกว่า 120 % ของประชากร หรือ1.2 เครื่องต่อคน
สำหรับสถานการณ์การใช้งานเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานของประเทศไทย ล่าสุดเมื่อ ธ.ค. 48 พบว่า บมจ.ทีโอที มีการใช้งานจำนวน 3.6 ล้านเลขหมาย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำนวน 1.994 ล้านเลขหมาย และบมจ.ทีทีแอนด์ที จำนวน 1.237 ล้านเลขหมาย
ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีการใช้งานล่าสุดเมื่อ พ.ย.48 พบว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส จำนวน 16.3 ล้านเลขหมาย ,บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค จำนวน 8.53 ล้านเลขหมาย, บริษัท ทีเอ ออเรนจ์ จำกัด จำนวน 4.303 ล้านเลขหมาย, บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส จำกัด หรือ ฮัทช์ จำนวน 0.7 ล้านเลขหมาย, พีซีที จำนวน 0.47 ล้านเลขหมาย ขณะที่กิจการร่วมค้า ไทยโมบาย จำนวน 0.15 ล้านเลขหมาย
อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าตลาด พบว่า รายได้ในปี 47 ของสิงเทล มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท บริษัทโวดาโฟน 3.1 ล้านล้านบาท บริษัท เอทีแอนด์ที 1.3 ล้านล้านบาท และบริษัท เอ็นทีที โดโคโม 1.13 ล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศไทย รวมกันทั้งหมดเพียง 2.47 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจของต่างชาติ
กทช. ต้องชัดเจนเรื่องกติกาก่อนเปิดเสรี
ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า การแข่งขันที่เป็นธรรมไม่มีสำหรับการแข่งขัน ในสภาพความเป็นจริง โดยผู้ให้บริการแต่ละราย มักอ้างว่าบริษัทตัวเองเสียเปรียบ เกี่ยวกับค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ซึ่งบางรายไม่มี กทช. คงต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องการกำกับดูแล
“กทช. อยากเห็นอะไร ตั้งโจทย์ขึ้นมาก่อน จึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อบัญญัติเป็นกติกาสำหรับบริการ ยกตัวอย่าง กำหนดเพดานราคาขั้นต่ำนาทีละ 2 บาท หากใครให้บริการราคาต่ำกว่านี้ ถือว่าผิดกติกา เป็นต้น ดังนั้น กทช. ต้องมี ความชัดเจนและความเข้มแข็งในฐานะผู้กำหนดกติกาในการแข่งขัน”
อีกทั้งยังอยากเห็นธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีการแข่งขันแบบเสรี ซึ่งจะมีรายใหม่ รายเก่า เข้ามาแข่งขัน และอยากให้มี สงครามราคา เพราะจะเป็นเรื่องดีกับผู้บริโภค โดยมองว่าเมื่อผู้ให้บริการมาแข่งด้านราคาผู้บริโภคจะมีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้น โดยบริการของผู้ประกอบการรายใดมีคุณภาพ ผู้ใช้บริการจะเป็นตัวตัดสิน
“คุณภาพบริการ จะเป็นจุดขายสำคัญ โดย กทช. ไม่ควรปิดกั้นด้านเทคโนโลยี ซึ่งผู้ให้บริการสามารถลงทุนเทคโนโลยีใด ก็ได้ เช่น โทรศัพท์ 3 จี, ไวแม็ก และ วอยซ์โอเวอร์ไอพี ซึ่งผู้ประกอบการรายใดอยากใช้บริการแบบใด ก็ลงทุนไป โดยผู้บริโภคเป็นคนเลือก ซึ่งเทคโนโลยีใดตลาดไม่ยอมรับ ผู้ให้บริการก็ขาดทุนไป” ธนา กล่าว
การแข่งขันธุรกิจโทรคมนาคม ดีต้องมีความเท่าเทียมกัน อย่าให้รายเก่าหรือรายอื่นๆ ได้เปรียบกว่ากันมาก โดยเฉพาะ รายใหม่ที่กำลังเข้ามาในตลาด กทช. ต้องกำหนดเงื่อนไขจะใช้กฎเกณฑ์แบบไหนให้ชัดเจน เช่นผู้ประกอบการรายใหม่ ที่จะเข้าตลาด หากต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แบบที่ เอไอเอส ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทางดีแทค กับ ออเร้นจ์ คงไม่สามารถ แข่งขันได้ เพราะผู้ประกอบการทั้ง 2 รายมีต้นทุนสูงกว่า หรือการคิดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายที่แพงกว่าผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย เอกชนรายใหม่คงไม่สามารถทำตลาดได้อย่างแน่นอน