หัวไม่มี? หางสะเทือน! กรรมของทีโอที & กสท. พิษ ไอซี กระอัก ทีโอที รายได้หด 1.4 หมื่นล้าน

นับเวลาผ่านมาเป็นปีแล้วที่ กสท โทรคมฯ” ยังคงไร้ผู้นำนั่งเก้าอี้ซีอีโอ หลังอดีตซีอีโอคนนอกอย่าง วิทิต สัจจพงษ์ ลาออกไปเมื่อ 9 พ.ค.2548 ขณะที่ ทีโอที” กำลังเดินตามรอยเดียวกันจากการว่างเว้นผู้นำคนใหม่ขึ้นมาแทน ธีรวิทย์ จารุวัฒน์ อดีตซีอีโอคนนอกอีกเช่นกัน ซึ่งถูกบอร์ด ทีโอที สั่งปลดฟ้าผ่ากรณีไม่ผ่านการประเมินผลตัวชี้วัด !!

ด้วยท่ามกลางภาวะสุญญากาศนี้เองหลากหลายปมปัญหารอบด้านก็เริ่มรุมเร้าเข้าประชิดตัวเป็นระยะ… โดยเฉพาะ ความปั่นป่วนภายในของทั้งสององค์กรที่ปะทุร้อนอย่างช่วยมิได้ พร้อมๆกับการตั้งคำถามถึงข้อคลางแคลงใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายดายนักสำหรับใครต่อใครให้หาความกระจ่างชัดในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ได้ และคงเป็น ความเคลื่อนไหวให้ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทีโอที – กสท ปั่นป่วน
เมื่อปัญหาภายในปะทุ

หลังจากก่อนหน้านี้บรรดาพนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที ต่างออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการบริษัท หยุดการล้วงลูกฝ่ายบริหาร และเร่งดูแลผลประโยชน์ของรัฐให้มากขึ้น ในขณะที่ยังประสบปัญหาไร้เงา กรรมการผู้จัดการใหญ่ตัวจริง ทำให้บริษัทยังคงไร้ทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจน

ถัดจากนั้นเพียงไม่นานนัก…การเกิดกระแสต่อต้านคณะกรรมการบมจ.กสท โทรคมนาคม ของพนักงานและสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมฯ ก็ตามมา (เมื่อวันที่ 31 พ.ค.) เกี่ยวกับการบริหารงานของคณะกรรมการที่ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรได้ หลังการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน

พร้อมๆกับมีแถลงการณ์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมที่ระบุว่า การปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท ยังไม่ทุ่มเทเวลาการบริหารงานมากเท่าที่ควร นับตั้งแต่สมัย พล.ท. อนุสรณ์ เทพธาดา จนกระทั่งวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ประธานคณะกรรมการคนปัจจุบัน

ทั้งพบว่า วาระการประชุมยังคั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากคณะกรรมการมีกำหนดการประชุมเพียง 1 ครั้งต่อเดือน เท่านั้น…

นอกจากนี้การประชุมแต่ละครั้งสามารถพิจารณาเรื่องต่างๆได้เพียง 50% ของวาระบอร์ดทั้งหมดเท่านั้น ส่งผลให้ โครงการจัดซื้อจัดจ้างไม่สามารถอนุมัติตามแผนที่กำหนดและสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงโครงสร้างการจัดการองค์กร ยังต้องล่าช้าออกไปกว่า 1 ปี

ขณะเดียวกันการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการยังมีลักษณะก้าวล่วงอำนาจฝ่ายบริหาร ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้ง คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee หรือ Ex-com) เพื่อทำหน้าที่เสมือนฝ่ายบริหารกลั่นกรองแผนงานต่างๆ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ ทำให้การทำงานซ้ำซ้อน

โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่คณะกรรมการชุดปัจจุบันได้สั่งยุติบทบาท Ex-com เมื่อปี ’48 ที่ผ่านมา แต่การแทรกแซง ยังคงดำเนินต่อไปโดยทางวาจา

หรืออย่างกรณีการบริหารงานในการใช้งบประมาณการประชาสัมพันธ์ ซึ่งแต่งตั้งคณะทำงานโดยมีกรรมการรายหนึ่ง เป็นประธาน ซึ่งพยายามจัดโครงการ Re-Branding มูลค่าเกือบ 200 ล้านบาท พร้อมให้บริษัทเอกชนบางราย สามารถเข้าประมูลเพียงรายเดียวได้ แต่ปัจจุบันโครงการดังกล่าวถูกระงับและอยู่ในระหว่างการทบทวน เป็นต้น

วัฒนะ เอี่ยมบำรุง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ . กสท โทรคมนาคม ให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สหภาพฯได้เดินทางเข้าพบประธานคณะกรรมการที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งได้เสนอแนวทาง การบริหารงาน 2 แนวทาง ได้แก่ 1. ถ้าบอร์ด กสท โทรคมฯจะทำงานในรูปของบริษัทเอกชน จะต้องประชุมเพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้งต่อเดือน โดยพิจารณาเฉพาะการเงินที่สำคัญ และการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเท่านั้น

และ 2. ถ้าบอร์ด กสท โทรคมฯจะบริหารงานแบบรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม โดยการลงมาช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารงาน เพื่อไม่ให้วาระการประชุมคั่งค้าง ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง

“สมัยกรรมการบริษัทชุดนี้เข้ามาบริหารงานในปี ’47 ประธานบอร์ดสมัยนั้นบอกว่า จะขอเข้ามาช่วยบริหารงาน เพราะผู้บริหารงานบางรายมีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล และผู้บริหารเหล่านั้นจะต้องถูกลงโทษ แต่ปัจจุบัน การดำเนินการ ดังกล่าวกลับไม่เห็นผล ดังนั้นในวันที่ 6 มิ.ย. จะเดินทางเข้าพบ น.พ. สุชัย เจริญรัตนกุล รักษาการ รมต. ไอซีที เพื่อร้องเรียนว่าพนักงาน กสท โทรคมฯไม่ต้องการคณะกรรมการชุดนี้อีกต่อไป”

ด้านตัวแทน สหภาพฯ กสท กล่าวเพิ่มเติมว่า กสท โทรคมฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท มหาชน โดยแปลงสภาพ จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ส . ค . 46 มี ทุนจดทะเบียนเริ่มแรกจำนวน 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย หุ้นสามัญจำนวน 1,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้น ขณะที่ได้แยกเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่มีทุน จดทะเบียน 750 ล้านบาท จำนวน 75 ล้านหุ้น และเพิ่มทุนอีกจำนวน 500 ล้านบาทเมื่อวันที่ 1 มี . ค .48 รวม 1,250 ล้านบาท

แต่ปัจจุบัน กสท โทรคมฯ กลับมีทรัพย์สินเหลือเพียงประมาณ 60,000 ล้านบาทเท่านั้นจากเดิมประมาณ 90,000 ล้านบาท ดังนั้นการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ผ่านมาไม่สามารถทำให้องค์กรมีมูลค่าได้เลย

ในทางเดียวกัน แหล่งข่าววงใน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริษัท จำนวน 4 ราย ได้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจาก ครบวาระการทำงานไปแล้ว ได้แก่ 1. อำนวยศักดิ์ ทูลศิริ 2. ดร . รองพล เจริญพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการ 3. ไกรสร พรสุธี กรรมการในฐานะปลัดกระทรวงไอซีที และ 4. ดร . วิชช์ จิรแพทย์ กรรมการ แต่ได้รับการแต่งตั้งกลับมาเพียง 3 ราย ยกเว้น ดร . วิชช์ จิรแพทย์

แต่เมื่อวันที่ 30 พ . ค . กลับมีเอกสารยับยั้งคำสั่งดังกล่าวจาก รมต . ไอซีที ดังนั้น ดร. วิชช์ จึงได้กลับเข้ามาเป็น คณะกรรมการตามเดิม ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างการรอความเห็นจาก น.พ. สุชัย เจริญรัตนกุล เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวด้วย

ฝ่ายบริหาร กสท โต้ทันควัน
แจงแทนบอร์ดฯทุกข้อครหา

จะอย่างไรแล้วหลังพนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท โทรคมฯ แถลงการณ์โจมตีการทำงานของบอร์ด กสท โทรคม ไปเพียงวันเดียว ทางฝ่ายบริหารระดับสูงของ กสท โทรคมฯ ก็ออกมาชี้แจงแทนบอร์ดฯในทุกข้อครหา อย่างทันทีทันใด

ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรที่ล่าช้า,การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่สามารถอนุมัติได้ตามแผนที่กำหนด รวมทั้งกรณี ข้อพิพาทระหว่าง กสท กับ ฮัทช์ ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ และ การอนุมัติให้บริษัท โปรลิงค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ

สมพล จันทรประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานร่วมกิจการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มชี้แจงถึงเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรล่าช้ากว่า 1 ปี ว่าเป็นเพราะ กสท โทรคมฯ เพิ่งแปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจ มาเป็น บมจ. ขณะเดียวกันจำนวนบุคลากรของ กสท โทรคมฯก็มีมากเกือบ 6,000 คน ดังนั้นการปรับโครงสร้างจะต้องใช้ เวลาเพื่อให้มีความสอดคล้องในการดำเนินธุรกิจและมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ

มากกว่านั้นการปรับโครงสร้างยังต้องใช้เวลาในการพิจารณารายละเอียดให้ครอบคลุมในทุกขั้นตอนซึ่งขณะนี้บอร์ด กสท โทรคมฯ ก็มีมติอนุมัติโครงสร้างใหม่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยโครงสร้างใหม่นี้ได้กำหนดตัวผู้บริหารที่จะปฏิบัติหน้าที่ แบ่งเป็นตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการ 7 คนและตำแหน่งรองกรรมการ 6 คน อย่างไรก็ตามโครงสร้างใหม่นี้จะไม่หยุดนิ่งกับที่ แต่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ ที่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางการแข่งขันทางเทคโนโลยีเป็นสำคัญ

ทางด้าน จิรายุทธ รุ่งศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน กล่าวว่า การปรับโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะ กสท โทรคมฯ ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ที่มีการปรับเปลี่ยนจากรัฐวิสาหกิจมาเป็น บมจ . ซึ่งได้มีการแปลงสภาพมาเป็น บมจ . อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2546 แต่เหตุที่การปรับโครงสร้างทำได้ช้า เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ ทั้งในเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

และที่ผ่านมาโครงสร้างของ กสท โทรคมฯ ก็มีการปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงโครงสร้างใหม่ที่จะต้องทำให้ สอดคล้องในการทำธุรกิจโทรคมนาคม พร้อมๆกับมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ ที่เน้นเรื่องของการตลาดสินค้า เป็นหลัก

ยกตัวอย่างเช่น การทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอ จะมีการตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) มีผู้นำดูแลการตลาด การพัฒนาธุรกิจ การดูแลรักษาทั้งชุมสายและระบบโดยตรง นอกจากนี้ยังมีธุรกิจ e-Business ซึ่งจะมีผู้รับผิดชอบฝ่ายธุรกิจ การตลาด การให้บริการ

ส่วนปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างที่ล่าช้าออกไปนั้น จิรายุทธ กล่าวว่า เพราะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้เกิดกระบวนการไม่สอดคล้อง การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้าจากปัญหากฎระเบียบต่าง ๆ อิงกับระเบียบรัฐวิสาหกิจทั้งหมด

แต่ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการดูแลการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ขั้นตอนในการดำเนินงานรวดเร็วขึ้น อย่างที่ผ่านมา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐรัฐวิสาหกิจจะต้องมีผู้ยื่นแข่งขันอย่างน้อยแข่งขันกัน 3 เวนเดอร์ และเข้าสู่การประมูล e-Action เป็นต้น

“เรื่องของการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลจะช่วยให้การจัดซื้อจัดจ้างเร็วขึ้น หรือใช้เวลาประมาณ 8 เดือน หรือลดขั้นตอน การทำงานลง 20% ให้เหลือประมาณ 5-6 เดือน ในการจัดซื้อจัดจ้าง ”

สำหรับกรณีพิพาทกับ ฮัทช์ ที่ผ่านมา เป็นเรื่องของความเห็นที่แตกต่างกันในสัญญา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกัน และไม่ได้กระทบถึงการดำเนินธุรกิจที่ กสท โทรคมฯได้ร่วมทำกับฮัทช์แต่อย่างใด

“ตรงนี้คงเป็นความเข้าใจผิดของการนำเสนอข่าว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยไปศาลหรือยกเลิกสัญญากับฮัทช์ แม้ว่ามติบอร์ด เห็นว่าสัญญาที่ กสท โทรคมฯ ทำร่วมกับ ฮัทช์ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายตาม พ.ร.บ. 2535 ในขณะที่ฮัทช์มีความเห็นว่า สัญญามีความผูกพัน จึงเป็นความเห็นที่แตกต่างในสัญญา แต่ขณะนี้ก็มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติแล้ว”

ขณะเดียวกันยังมีการหารือในหลายทางเลือกเพื่อให้เป็นผลดีกับองค์กรทั้งสองฝ่าย แต่หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็คงต้องให้กฎหมายเป็นตัวตัดสิน เช่น ส่งเรื่องให้อนุญาโตตุลาการตีความพิจารณาว่าสัญญาระหว่างฮัทช์และ กสท โทรคมฯมีผลผูกพันหรือไม่

ส่วนการอนุมัติให้บริษัท โปรลิงค์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านระบบ Voice over Internet Protocal นั้น ปัจจุบันสัญญาดังกล่าวได้หมดอายุลงแล้ว โดย กสท โทรคมฯไม่ได้ดำเนินการต่อสัญญาดังกล่าว

แต่ในส่วนของขั้นตอนการอนุมัติร่างสัญญานั้น ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายอีกครั้ง โดยมีตัวแทนจาก กสท โทรคมฯและ ผู้แทนของอัยการสูงสุด ร่วมอยู่ด้วย จนต่อมาคณะกรรมการ กสท โทรคมฯ ได้เห็นชอบร่างสัญญาดำเนินการ และให้ กสท โทรคมฯ ใช้ร่างสัญญาร่วมดำเนินการดังกล่าวเป็นร่างสัญญามาตรฐาน ในการร่วมดำเนินการตลาดการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ผ่านระบบ Voice over Internet Protocol กับนิติบุคคลอื่น ๆต่อไป

รวมถึงประเด็นการปรับค่าเสียหาย บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี จำกัด ในกรณีการส่งมอบงานล่าช้านั้นขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ว่าจะมีการปรับหรือไม่ เนื่องจากจะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะอาจจะถูกฟ้องกลับได้

อย่างไรก็ตาม หากหัวเหว่ยฯ ทำผิดสัญญาจริงและไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมทำให้งานล่าช้าออกไป ก็ต้องมีการปรับค่าเสียหาย ตามสัญญาวันละ 90 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้เร่งรัดให้มีการสรุปเรื่องนี้ภายใน 42 วัน หรือ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม

ยันสรรหาซีอีโอ กสท
อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย

เช่นเดียวกับความคืบหน้าในการสรรหาซีอีโอ ที่ฝ่ายบริหาร กสท โทรคมฯ ยืนยันว่า อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้วโดยจะมีการนำ รายชื่อเพื่อเสนอให้บอร์ดฯพิจารณา ซึ่งขณะนี้มีผู้ผ่านการพิจารณาจำนวน 3 ราย…

กสท – ทีโอที ไร้เงานายใหญ่
ภาวะสุญญากาศที่ต้องจับตา

สอดรับกับ ประธานสหภาพฯกสท โทรคมฯ ที่บอกไว้เช่นเดียวกันว่า การสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้มีการคัดเลือก เป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ผลการคัดเลือกยังอยู่ที่คณะกรรมการบริษัท ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้

ขณะที่แหล่งข่าววงใน กล่าวว่า การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ กสท โทรคมฯ แทนวิทิต สัจจพงษ์ นั้นผ่านการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาเป็นปี โดยขณะนี้มีพิศาล จอโภชาอุดม ดำรงตำแหน่งรักษาการ ในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาเป็นระลอกว่า พิศาล เป็นหนึ่งในจำนวน 3 รายที่ผ่านการพิจารณาด้วยเช่นกัน

ถึงกระนั้นหากย้อนไปดูการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ กสท โทรคมฯแล้วจะเห็นว่า มีการสรรหา มาหลายรอบ เนื่องจากคณะกรรมการได้ยกเลิกการสรรหาไป รวมถึงครั้งก่อนหน้านี้ที่มีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 2 รายเป็นคนนอกหนึ่งรายและคนในเองหนึ่งราย ได้แก่ มุดตาฝ้า หมันงะ อดีตผู้บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และสมพล จันทรประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานร่วมกิจการของ กสท โทรคมฯ แต่คณะกรรมการ บริษัทเห็นว่าทั้ง 2 ราย ยังไม่สามารถแสดงวิสัยทัศน์ที่จะสามารถนำบริษัทเข้าสู่การแข่งขันที่รุนแรง ในธุรกิจโทรคมนาคม ในอนาคตได้

ทีโอทียอมรับผลกระทบ
หลังไม่มีซีอีโอนั่งแท่น

ส่วนความคืบหน้าในการสรรหาซีอีโอของ ทีโอที นั้น จำรัส ตันตรีสุคนธ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ทีโอที จะต้องผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการจากกระทรวง ไอซีทีเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการสรรหาต่อไปในวันที่ 2 มิ.ย. 49

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ พล.อ.ท. สมชาย เธียรอนันต์ คณะกรรมการ บมจ. ทีโอที ก็ได้กล่าวภายในการแถลงข่าวปลด อดีตซีอีโอคนนอกอย่าง ธีรวิทย์ จารุวัฒน์ เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินผลตัวชี้วัดจากจำนวน 31 ตัวชี้วัดโดยทำผ่านได้เพียง 15 ตัวชี้วัด รวมทั้งการบริหารงานมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ทั้งในส่วนของโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed Line) โทรศัพท์สาธารณะ (Public Phone) และบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ธีรวิทย์ จารุวัฒน์ ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ทีโอที โดยมีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2549 เป็นต้นไป

ในทางเดียวกันก็มีการประเมินผลกระทบต่อองค์กร ในระหว่างที่ไม่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยต้องยอมรับว่า มีผลกระทบอยู่บ้าง ซึ่งในส่วนนี้คณะกรรมการได้แต่งตั้งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นมาดูแลและรับผิดชอบแทน เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป ตามแผนที่ได้กำหนดไว้

แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ถึงแม้ทีโอทีไม่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็สามารถอยู่ได้ทั้งนี้ในช่วงที่ไม่มีกรรมการผู้จัดการใหญ่ แล้วรายได้ลดลงคณะกรรมการต้องรับผิดชอบเช่นกัน

ทีโอทีกระอักใช้ไอซี
รายได้หด 1.4 หมื่นล.

นอกจาก บมจ.ทีโอที จะมีปัญหาภายในถาโถมเข้ามาในช่วงที่ยังไม่มีซีอีโอคนใหม่ขึ้นนั่งแท่นแล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับ ปัญหาหนักอกในเรื่องของอินเตอร์คอนเนคชั่น ชาร์จ (ไอซี) ซึ่งอนาคตข้างหน้ามีผลให้ ทีโอที ต้องสูญรายได้ไปมากถึง 1.4 หมื่นล้านบาท

โดยเรื่องนี้ วีรวัฒน์ เทพสุนทร ผู้จัดการส่วนกฎเกณฑ์การเชื่อมต่อโครงข่าย สังกัด รัฐกิจสัมพันธ์ ของ บมจ.ทีโอที ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในงานสัมมนาภายใน ทีโอที ภายใต้หัวข้อเรื่อง กทช….กับผลกระทบค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ว่า ในปีที่ผ่านมา ทีโอที มีรายได้จากค่าแอ็คเซ็ส ชาร์จ จำนวน 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือนจากคู่สัญญา คิดรวมมูลค่าจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท

หากประกาศดังกล่าวตีความไม่ต้องให้เอกชนจ่ายค่า แอ็คเซ็ส ชาร์จ เนื่องจากประกาศใช้ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (ไอซี) แล้วจะส่งผลกระทบต่อรายได้ในส่วนนี้ของบริษัทหายไป ทำให้รายได้รวมของบริษัทลดลงอย่างแน่นอน

จึงมองว่า ปัจจุบันปริมาณทราฟฟิกที่ผ่านโครงข่ายทีโอที มีจำนวน 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากทีโอทีใช้กลยุทธ์ เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายเพียงรายเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทเอกชนเชื่อมต่อกันโดยตรงมากขึ้นโดยอาจกำหนดอัตราค่า Transit ในอัตรา 1 บาทต่อนาที ก็จะเป็นทางแก้ปัญหาและสามารถชดเชยรายได้อีกจำนวน 20,000 ล้านบาทต่อปีได้

ลั่นเอกชนเชื่อมต่อต่อตรง
ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ทีโอที

นอกจากนั้น วีรวัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ยังติดปัญหาการเชื่อมต่อกันโดยตรง ระหว่างบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานจาก บมจ. ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคมเอง ซึ่งอาจขัดต่อสัญญาสัมปทาน เนื่องจากปัจจุบันมีเพียง 2 หน่วยงานนี้เท่านั้น ที่เป็นเจ้าของโครงข่าย

ดังนั้นหากบริษัทเอกชนเชื่อมต่อกันโดยตรงจะมีวิธีการคิดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกันอย่างไร เช่น ทีโอที กับ เอไอเอส หรือ ทีโอที กับ ทรูฯ เป็นต้น อีกทั้งจะเป็นอัตราเดียวกันหรือไม่ และจะมีการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจาก การเชื่อมต่อโครงข่าย ให้ทีโอทีในอัตราเท่าใด ซึ่งการต่อตรงส่งผลเสียต่อทีโอทีเป็นอย่างมาก เนื่องจาก กทช. ไม่มีมาตรการใดๆออกมาควบคุมได้

“ถ้าเอกชนเชื่อมต่อโครงข่ายกันโดยตรงแล้วรับรองว่า ทีโอทีจะเสียเปรียบอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบ ปริมาณทราฟฟิกได้ ทั้งนี้หาก กทช.บอกว่าเอกชนเชื่อมต่อตรงกันแล้วก็ควรต้องเปิดเผยข้อมูลให้ทีโอทีทราบได้ด้วย”

ทีโอที บ่นใส่ กทช.
ออกประกาศฯไม่ชัดเจน

วีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศดังกล่าวของ กทช. ไม่มีความชัดเจนหลายประการ ทั้งเรื่องสัญญาสัมปทาน ค่าแอ็คเซ็ส ชาร์จ จำนวน 200 บาทต่อเลขหมาย และสิทธิหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน ตามมาตรา 80 วรรค 2 ใน พ.ร.บ. ประกอบกิจการ โทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ว่ามีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ให้สัมปทานหรือไม่

ทั้งนี้หากต้นทุนอัตราค่าบริการระหว่างทีโอทีและบริษัทเอกชนไม่สามารถตกลงกันได้แล้ว กทช. จะต้องตั้งคณะกรรมการ ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 3 ราย ขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทต่อไป

นอกมองใน…ทีโอที-กสท
ความคลุมเครือยังปกคลุม

ชนัฐฐา อยู่เสนาสห์ นักวิจัยอาวุโส บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “Telecom Journal” ว่า ทิศทาง การดำเนินธุรกิจของ 2 องค์กรที่แปลงสภาพจากรัฐวิสาหกิจมาเป็น บริษัทมหาชน คือ บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ในขณะนี้ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก ซึ่งตามแผนงานทั้งสองบริษัทมีแผนเข้าตลาดตั้งแต่ปีแล้วแต่ก็ต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างองค์กร การดำเนินธุรกิจ และการสรรหาซีอีโอ

ขณะเดียวกันการล่าช้าออกไปนั้นยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมเชิงนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะปัจจุบันธุรกิจสื่อสารมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ดังนั้นการให้บริการของบริษัทจะต้องแข่งขันกับผู้ให้บริการ รายอื่นได้ พร้อมๆกับต้องมีเงินลงทุนเพื่อพัฒนาบริการและนำเสนอบริการใหม่ ๆ รวมถึงการใช้เงินลงทุนจะต้องมีการระดมทุน โดยการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่จะได้ในคอสที่ต่ำกว่าการกู้เงินมาลงทุน

เมื่อเป็นเช่นนั้นการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯล่าช้าดังกล่าว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน และความสามารถ ในการแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่น จึงทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนองค์กร เนื่องจากมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และราคาหุ้น

มากกว่านั้นคือในส่วนของซีอีโอ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญขององค์กรในการสร้างความเชื่อมั่นนั้น การที่ไม่มีซีอีโอก็ส่งผลต่อ ราคาหุ้นเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเข้าตลาดฯไปอาจจะทำให้ราคาหุ้นต่ำกว่า IPO ก็ได้ เหมือนเช่นอดีตในสมัยที่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เข้ามาดำรงตำแหน่งซีอีโอของออเร้นจ์ ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นของกิจการแม่พุ่งขึ้น

ดังนั้นภาพของ “ซีอีโอ” จึงมีความสำคัญกับธุรกิจ และจำเป็นต้องหาซีอีโอที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

อย่างกรณีของ กสท โทรคมฯเองแม้ว่าจะมีธุรกิจมือถือซีดีเอ็มเอโดยบริษัทได้วางไว้ว่าจะเป็นธงในการสร้างรายได้หลัก ให้กับบริษัทในอนาคต แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถให้บริการได้และจะต้องดูความพร้อมของโครงข่ายว่าคลอบคลุมพื้นที่ หรือไม่ รวมทั้งยังมีประเด็นของหัวเหว่ยฯที่ยังไม่ส่งมอบงาน ซึ่งอาจทำให้กระทบกับบริษัทในการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์

ในทางเดียวกันการผลักดันบริษัทเข้าตลาดฯจะต้องพิจารณาความพร้อมของธุรกิจมือถือซีดีเอ็มเอ ว่ามีความพร้อมหรือยัง หรือเทรนด์ของตลาดช่วงนั้นเป็นอย่างไร รวมถึงต้องมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจด้วยเพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถผลักดัน ดีมานด์ของผู้ใช้บริการได้

จากข้างต้นที่กล่าวไปถือเป็นจุดอ่อนของทั้งสองหน่วยงานในเวลานี้ โดยเฉพาะการบริหารงานภายในยังไม่มีความชัดเจน ไม่สามารถสลัดภาพของการรัฐวิสาหกิจออกไปได้ แม้ว่าจะมีการแปลงสภาพมาเป็น บมจ. มาประมาณ 2-3 ปี แต่ก็ยัง ไม่มีความสมบูรณ์

“การปรับเปลี่ยนองค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อนคงต้องใช้เวลา เนื่องจากการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ยังต้องผ่านขั้นตอน กระบวนการหลายขั้นตอนและไม่มีความยืดหยุ่น จึงจำเป็นต้องเร่งปรับองค์กรให้เป็นเอกชนมากขึ้นกว่านี้”

เช่นเดียวกับ ทีโอที แม้ว่าจะมีธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือไทยโมบาย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เนื่องจากประสบการณ์ยังมีน้อย จำนวนผู้ใช้บริการมีน้อย ซึ่งต่างกับเอกชนที่เมื่อมีความเคลื่อนไหวในองค์กร ก็จะมีการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้ทราบผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น เมื่อมีการปรับองค์การ หรือการรีแบรนด์

ย่างไรก็ตามก็มองว่าเรื่องของการเข้าตลาดฯนั้น ถ้าเข้าไปแล้วหุ้นไม่น่าสนใจ หรือราคาต่ำเพื่อให้รายอื่นช้อนซื้อ ก็ไม่คุ้ม ดังนั้นจะต้องมีความชัดเจนในเชิงนโยบาย การบริหารต้องเป็นเอกชนมากขึ้น ธุรกิจต้องมีความชัดเจน รายได้ต้องแสดงให้เห็นได้ชัดเจนและที่สำคัญคือ ซีอีโอจะต้องน่าเชื่อถือเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย พร้อมสร้าง ความเชื่อมั่นให้นักลงทุนด้วย…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *