การปฏิรูปโทรคมนาคมไทย

ขอแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่ท่านได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคนที่ห้าของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ก.ไอซีที) จากความรู้ความสามารถประสบการณ์และผลงานของท่านเป็นที่คาดหวังได้ว่าท่านจะช่วยพัฒนาอุสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยให้เจริญก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สาธารณะต่อไป ในฐานะนักวิชาการ ผมมีข้อคิดเห็นต่อนโยบายของ กระทรวงไอซีที ในเรื่อง “การปฏิรูปโทรคมนาคมไทย (Thai Telecommunications Reform)” ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ดังต่อไปนี้

การปฏิรูป (Reform) โทรคมนาคมไทยประกอบด้วยสองขั้นตอนที่สำคัญได้แก่ ขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจผูกขาด (Privatization) ให้เป็นผู้ประกอบการเอกชน กับขั้นตอนการกำกับดูแล (Regulation) การประกอบกิจการของผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะสูงสุด (ดังรายละเอียดในบทความเรื่อง “จุดเปลี่ยนโทรคมนาคมไทย” ซึ่งได้ตีพิมพ์ใน Telecom Journal ฉบับที่ 639) โดยที่ขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นนโยบายของ ก.ไอซีที ส่วนขั้นตอนการกำกับดูแลเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทช.

การปฏิรูปโทรคมนาคมไทยที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะสูงสุดนั้นจะต้องมีนโยบายภาพรวมที่สอดคล้องกันของขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและขั้นตอนการกำกับดูแล หากแต่ว่าการปฏิรูปโทรคมนาคมไทยที่แล้วมาไม่ได้ทำภายใต้นโยบายภาพรวมนี้ จึงทำให้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแลที่แล้วมาเป็นไปโดยอิสระจากกันซึ่งมีผลเสียหลายประการ เช่นมีการแปรรูปกิจการที่มีลักษณะผูกขาดเชิงธรรมชาติ (Natural Monopoly) ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยต้องเริ่มเปิดเสรีในยุคหลอมรวม (Convergence) ซึ่งทำให้เกิดการผูกขาดแบบบูรณาการโดยภาคเอกชนในตลาดโทรคมนาคมไทย

โดยทฤษฎีแล้ว การปฏิรูปโทรคมนาคมไทยครั้งใหม่ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะสูงสุดนั้น จะต้องเริ่มต้นใหม่จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แล้วทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการกำกับดูแลครั้งใหม่ต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อาจจะต้องใช้เวลานานรวมทั้งอาจเกิดข้อโต้แย้งรุนแรงเกี่ยวกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลได้โดยเฉพาะกับกรณีสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ผมจึงขอเสนอแนวทางการปฏิรูปโทรคมนาคมไทยครั้งใหม่ในส่วนของ ก.ไอซีที ดังนี้

1. เนื่องจากถึงแม้ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมไทยไปแล้วแต่ก็ยังไม่ได้มีการกระจายหุ้นรัฐวิสาหกิจนั้นในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น ก.ไอซีที จึงยังสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขขั้นตอนการแปรรูปใหม่ได้โดยเฉพาะในประเด็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาดเชิงธรรมชาติ

2. ในขณะเดียวกัน ก.ไอซีที ควรจะมีการทำงานร่วมกับ กทช. ให้มีนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจกับการกำกับดูแลที่มีความสอดคล้องกัน เพื่อให้การปฏิรูปโทรคมนาคมไทยครั้งใหม่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะสูงสุด

หากทำได้ตามนี้แล้ว การปฏิรูปโทรคมนาคมไทยที่เกิดจากความร่วมมือกันของ ก.ไอซีที กับ กทช. นี้อาจจะกลายเป็นต้นแบบของการปฏิรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆของไทยได้อีกด้วย การปฏิรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานไทยที่ถูกต้องจะสามารถสร้างผลประโยชน์มหาศาลต่อส่วนรวมแม้ว่าอาจจะมีความพยายามต่อต้านจากผู้เสียผลประโยชน์ส่วนตนบางกลุ่ม การแปรรูปโทรคมนาคมไทยที่ถูกต้องของ ก.ไอซีที นี้อาจจะสามารถเทียบได้กับนโยบาย “เพื่อประเทศชาติ” ของกระทรวงอื่นๆ เช่นนโยบายยกเลิกหวยบนดินของกระทรวงยุติธรรม หรือนโยบายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณะสุข เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *